พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย

พระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๕๐ พรรษา

 

พระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ องค์นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดสร้างขึ้นตามรูปแบบของพระเจ้าล้านทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยปาลวะ พระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเฉลิมบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชมมายุ ๕๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ปฐมเหตุแห่งการจัดสร้าง

     ปฐมเหตุของการจัดสร้าง เกิดจากดำริของ รองศาสตราจรย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้ไปกราบพระเจ้าล้านทองซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย แล้วเกิดความเลื่อมใสและชื่นชมในพุทธลักษณะที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขออนุญาตจาก พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน) เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) และเจ้าคณะภาค ๖ เพื่อจัดสร้างขึ้น

     โดยการจัดสร้างได้จำลองแบบย่อส่วนขนาดร้อยละ ๙๐ ขององค์จริงพุทธลักษณะปางมารวิชัย หน้าตัก ๑.๙๐ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดเปลวเพลิง ๒.๒๐ เมตร โดยได้ว่าจ้างพันโทนภดล สุวรรณสมบัติ ให้เป็นผู้ปั้นแบบ จากนั้นได้ปรับแต่งและแก้ไขรายละเอียดของพระพุทธรูปต้นแบบจนมีความงดงามทัดเทียมกับองค์ต้นแบบให้มากที่สุดโดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

     หลังจากที่ได้พระพุทธรูปต้นแบบที่มีความงดงามตามพุทธลักษณะแล้ว มหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพมรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเททอง ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จากนั้นได้ดำเนินการหล่อและตกแต่งองค์พระที่โรงหล่อจังหวัดสิงห์บุรี งบประมาณการก่อสร้างรวมจำนวนแปดแสนห้าหมื่นบาท ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินร่วมจัดสร้างกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้่าหลวงในครั้งนี้ด้วย

พิธีมหาพุทธาภิเษก

     เมื่อการจัดสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยมี พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร) ผู้ปฎิบัติหน้าที่แทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานจุดเทียนชัย และพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน) รักษาการเจ้าคณะภาค ๖ เป็นผู้ดับเทียนชัย และได้กราบอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์และพระเกจิอาจารย์ภาคเหนือ ๘๓ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์และอธิฐานจิตนั่งปรก โดยมีพระพิธีธรรมจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สวดพระคาถาทิพยมนต์ และคณะสงฆ์ล้านนาสวดเบิกแบบพื้นเมืองตลอดพิธี และได้จัดสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง หน้าตัก ๙ นิ้ว ๕ นิ้ว ขนาดลอยองค์สูง ๓ เซนติเมตร และเหริญพระเจ้าล้านทอง เข้าพิธีมหาพุทธาภิเษกในครั้งนี้ด้วย


ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการจัดสร้างวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นประดิษฐานในวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ซึ่งพิธีดังกล่าวได้จัดแบบล้านนา โดยได้อัญเชิญพระเจ้าล้านทองฯ ด้วยการหามบนเสลี่ยงติดตามด้วยขบวนแห่ที่อลังการและมีความงดงามด้วยริ้วขบวนที่ประดับตกแต่งแบบล้านนา สร้างความประทับใจและควรค่าแก่การจดจำเป็นอย่างยิ่ง

หากท่านมีโอกาสได้กราบพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งประดิษฐานเป็ฯประธานในวิหารพระเจ้าล้านทอง จะได้ชื่นชมในความงดงามและเปี่ยมด้วยบุญบารมีขององค์พระ เสมือนหนึ่งสายพระเนตรทอดต่ำลงมาที่ผู้เข้าไปสักการะกราบไหว้อยู่ตลอกเวลา พระพักตร์ที่อิ่มเอิบและพระโอษฐ์ที่แย้มด้วยพระเมตตาก่อให้เกิดความอิ่มเอมใจยิ่งนัก