หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

ปริญญาตรี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์

ภาษาไทย: หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ: Doctor of Dental Surgery Program

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
ชื่อย่อ : ท.บ.
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Doctor of Dental Surgery
ชื่อย่อ : D.D.S

ปรัชญาของหลักสูตร
ทันตแพทยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการตรวจ วินิจฉัย รักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้า การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสภาพ จึงมีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพของประชาชนไทย 

ในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมบริโภคนิยม รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีผลต่อปัญหาสุขภาพช่องปากที่ซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ และทันตแพทย์ จึงจำเป็นที่ศาสตร์ทางทันตแพทย์ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลักสูตรได้ยึดปรัชญาปฏิบัตินิยม(Pragmatism) นั่นคือการที่ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาเป็นทันตแพทย์ได้นั้นต้องมาจากการมีความรู้และฝึกฝนปฏิบัติทั้งในห้องปฏิบัติการ ในคลินิกและในชุมชนเพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ โดยวิธีการจัดการหลักสูตรจะอิงอยู่บนหลักการของการศึกษาแบบอิงผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcome-based education) และการเรียนรู้แบบอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based learning) โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centred)

ดังนั้นหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จึงมุ่งผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถและมีทักษะในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และทันตแพทย์ และให้มีสมรรถนะตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ มีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และมีศักยภาพรอบด้านเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆและสามารถปรับตัวในเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมแห่งวิชาชีพ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพช่องปากของชุมชนได้

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. เป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม (PLO1)
  2. เป็นบัณฑิตที่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพอย่างเพียงพอทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านวิทยาศาสตร์ 2) วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน 3) ทางทันตแพทยศาสตร์ 4) การเป็นผู้ประกอบการ และ 5) ทางวิจัยและนวัตกรรมทางทันตกรรม สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (PLO2)
  3. เป็นบัณฑิตที่มีทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพสามารถให้การวินิจฉัย วางแผนการรักษา ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม ติดตามและประเมินผลการรักษา ตลอดจนเสริมสร้างการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากขั้นพื้นฐานได้ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่บูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ (PLO 3 5 6 7)
  4. เป็นบัณฑิตที่มีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบตามบทบาทในการทำงานเป็นทีมในสังคม
  5. พหุวัฒนธรรม สามารถปรับตัวเข้ากับการแปลี่ยนแปลงในสังคมได้ สามารถสื่อสารเชิงวิชาการและเชิงวิชาชีพโดยใช้ทวิภาษา และเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข (PLO4)

  1. ทันตแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน และสถาบัน/สำนัก/หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
  2. อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
  3. นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ในสาขาทันตแพทยศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง
  4. ประกอบอาชีพอิสระทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  5. ทันตแพทย์ในสถานประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับงานทันตกรรม

  • PLO1: ประพฤติตนอยู่ในหลักคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ซื่อสัตย์สุจริต รักษาระเบียบวินัย รับผิดชอบต่อหน้าที่ และมีจิตสาธารณะ 
  • PLO2: ประยุกต์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ทันตแพทยศาสตร์ การเป็นผู้ประกอบการ และวิจัยหรือนวัตกรรม รวมถึงระบบสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศไทยและของโลกในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม
  • PLO3: สังเคราะห์ข้อมูลหรือองค์ความรู้ทางทันตแพทย์ศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • PLO4: แสดงออกถึงภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบตามบทบาทในการทำงานเป็นทีมในสังคมพหุวัฒนธรรม สามารถปรับตัวเข้ากับการแปลี่ยนแปลงในสังคมได้ สามารถสื่อสารเชิงวิชาการและเชิงวิชาชีพโดยใช้ทวิภาษา และเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข 
  • PLO5: วางแผนและจัดการการรักษาทางทันตกรรมของผู้ป่วยโดยใช้หลักสุขภาพองค์รวมและการมีส่วนร่วม และสามารถป้องกันและจัดการภาวะฉุกเฉินและภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม (Specific skills)
  • PLO6: สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้หลักสุขภาพองค์รวม และสามารถสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (Specific skills)
  • PLO7: ร่วมสร้างสรรนวัตกรรมหรือวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่บูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ (Specific skills)

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 1,800,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 150,000 บาท

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 230 หน่วยกิต (หลักสูตร 6 ปี)
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
     
2. หมวดวิชาเฉพาะ 194 หน่วยกิต
  1) กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 26  หน่วยกิต 
  2) กลุ่มวิชาชีพบังคับ 167  หน่วยกิต
  3) กลุ่มวิชาชีพเลือก 1  หน่วยกิต
       
3. หมวดวิชาชีพเลือกเสรี 6 หน่วยกิต