มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนการพัฒนาครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายผ่านโครงการสำคัญ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษาของจังหวัดเชียงราย
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาวัณย์ จำปาแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ นายสุชาติ รัตนโรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ ประชุมหารือคณะกรรมการอำนวยการโครงการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษา สนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ณ ห้องดอยตุง อาคารวันชัย ศิริชนะ โดยคณะกรรมการอำนวยการโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1-4 ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเชียงราย คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และ มีทีมงานของศูนย์บริการวิชาการเป็นเลขานุการ ทำให้ที่ดูแล กำกับ ติดตาม พร้อมทั้งให้นโยบายการดำเนินโครงการสำคัญด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดเชียงรายให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ขับเคลื่อนด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษที่ 21 ปีที่สอง และ 2) โครงการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการ โดยใช้ STEM ศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย
โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1-4 รวมทั้ง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงสมรรถนะผู้เรียนให้ตรงตามบริบทพื้นที่และสอดคล้องกับแนวนโยบายภาครัฐ พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาสู่ชั้นเรียนยุคใหม่ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันก็พัฒนาครูผู้สอนด้วยการส่งเสริมและเพิ่มพูนทักษะที่ครอบคลุมต่อการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 เกิดเป็นคลังองค์ความรู้เพื่อให้ครูมีเครื่องมือที่หลากหลายและสามารถเลือกใช้ได้เหมาะสมกับชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างรอบด้าน มีสมรรถนะที่เหมาะสมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของช่วงวัย รวมถึงได้รับการส่งเสริมความเป็นเลิศเต็มตามศักยภาพ อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดเชียงรายให้มีประสิทธิผลสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบการศึกษาของประเทศไทยในท้ายที่สุดได้ต่อไป