ผลงานวิจัย “ไอโซนาร์” ประเดิมบทความนิตยสารงานวิจัยระดับมาสเตอร์พีช ฉบับปฐมฤกษ์ของ ทปอ.

หมวดหมู่ข่าว: รางวัล/ผลการวิจัยเด่น

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ณ Watergate Ballroom ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อมด้วย อาจารย์สุรพล วรภัทราทร อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. เข้าร่วมงานเสวนา “ทิศทางต่อยอดงานวิจัย:พลังขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต” และงานเปิดตัว Eduzine นิตยสาร “ความรู้สู่สังคม” จัดงานโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้า ซึ่งผลงานวิจัย “ไอโซนาร์ ดวงตาคู่ใหม่ สำหรับผู้พิการทางสายตา” ของอาจารย์สุรพลได้รับคัดเลือกให้ลงบทความในฉบับปฐมฤกษ์ของนิตยสาร “ความรู้สู่สังคม”

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ประธาน ทปอ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทปอ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือ ความคิด การสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก รวมทั้ง ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และนำเสนอความคิดเห็น เสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติผ่านงานวิจัยกว่า 43 ปี ที่ ทปอ.ทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น ปัญหาการเข้าถึง และการรับรู้ว่างานวิจัยได้มีการเผยแพร่ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างบรรยากาศการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยอาชีพทั้งในภาครัฐและเอกชนกลายเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจของประเทศ ทปอ. จึงได้จัดทำโครงการ "การจัดทำหนังสือบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาประเทศด้วยการวิจัย (University Role in Country Development by Research) และอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดทำช่องทางการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัย ผ่านนิตยสาร “ความรู้สู่สังคม” Application (iOS และ Android) และ website เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง นักวิจัย นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป โดยเนื้อหาของหนังสือเน้นเป็นรูปแบบการนำเสนองานวิจัยที่ร่วมสมัย อ่านง่าย เข้าใจง่าย เหมือนแมกกาซีนทั่วไป แบ่งหัวข้อการนำเสนอเป็นหมวดหมู่ 6หมวดหมู่คือ

  1. Value Added: เน้นงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต /เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต/ผลิตภาพของผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญ เพิ่มมูลค่าให้สินค้า และบริการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
  2. Partnership: เน้นงานวิจัยที่ย้ำความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ระหว่าง นักวิจัย นักธุรกิจ และชุมชน หรืองานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน
  3. Trend to Success: เทรนด์ของงานวิจัยใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังไม่เคยปรากฏ สามารถทำเชิงธุรกิจได้ เช่น การวิจัยพัฒนาผลิตพลังงานทดแทนจากผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเช่นการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางค์หรือยาจากสมุนไพรไทยเป็นต้น
  4. Beyond Hub: นำเสนองานวิจัยที่ช่วยพัฒนายกระดับการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค อาเซียน เอเชีย ในด้านต่าง ๆ ของไทย เช่นระบบโลจิสติกส์ IT หรือ อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร งานวิจัยที่ยกระดับการศึกษา เป็นต้น
  5. Quality of Life : เน้นงานวิจัยที่สร้างคุณภาพชีวิตคนในสังคม ให้อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อาจเป็นงานวิจัยเชิงชุมชน หรือพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง
  6. หมวดงานวิจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลโดยรวมต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างองค์ความรู้ต่อสังคม

ดาวน์โหลดนิตยสาร “ความรู้สู่สังคม” ฉบับที่ปฐมฤกษ์ได้ที่ www.thaieduzine.org/dFile/y1s1/Full.pdf

  • 880 ครั้ง