มฟล.จัดกิจกรรม อธิการบดีพบนักศึกษาและผู้ปกครอง เปิดเทอมภาคปลาย 2/2564 แบบ On-site

หมวดหมู่ข่าว: ITA กิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ITA การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดกิจกรรม ‘อธิการบดีพบนักศึกษาและผู้ปกครอง’ สำหรับการเปิดเทอม 2/2564’ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น.จัดขึ้นที่ห้องคำมอกหลวง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน facebook.com/MFUconnect โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กล่าวกับผู้ปกครองและนักศึกษาถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่อการเปิดเทอมภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2/2564 ในรูปแบบ On-site ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งนี้ได้กล่าวต้อนรับนักศึกษาเพื่อกลับเข้าชั้นเรียนในการเปิดเทอมที่จะถึงนี้ พร้อมได้ให้ข้อมูลสำคัญ อย่างการตัดสินใจเปิดเทอมและจัดการเรียนการสอนแบบ On-site  และมาตรการที่มหาวิทยาลัยเตรียมเพื่อรองรับการกลับเข้าชั้นเรียนของนักศึกษา หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 ในระยะเวลาหนึ่ง
.
ทั้งนี้อธิการบดีได้อธิบายถึงการตัดสินใจที่จะจัดการเรียนการสอนแบบ On-site  ในเทอม 2/2564 นั้นผ่านการประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงประกอบด้วยหลายส่วน ไม่ว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนหรือกิจกรรมนอกชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะสำคัญต่ออนาคตของนักศึกษา ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งช่วงที่มหาวิทยาลัยปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตามสถานการณ์การระบาดโควิดที่ผ่านมา มีนักศึกษาบางชั้นปีอยู่ระหว่างฝึกงานและจบการศึกษาออกไปโดยไม่ได้กลับเข้าทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยอีกเลย บางชั้นปีเรียนออนไลน์ไปแล้วเป็นเวลา 3 ภาคการศึกษาจากทั้งหมดที่ต้องเรียน 8 ภาคการศึกษา และโดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าชั้นเรียนหรือร่วมกิจกรรมสำหรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยตลอด 1 เทอม โดยไม่เคยพบเพื่อนหรือครูอาจารย์ผู้สอนแบบโดยตรง การเปิดเทอมแบบ On-site ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นความพยายามที่จะทำให้นักศึกษาได้เข้าร่วมการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบให้มากที่สุดเท่าที่โอกาสจะอำนวย
.
นอกจากนี้ การตัดสินใจเปิดเรียนแบบ On-site  เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมเป็นหอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดเชียงราย เริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่ 2563 ก่อนรับผู้ป่วยรายแรกในเมษายน 2564 รวมถึงรับผู้ป่วยโควิด-19 ชาวเชียงราย ในโครงการ ‘เจียงฮายปิ๊กบ้าน’ ตั้งแต่พฤษภาคม 2564 ที่เดินทางจาก กทม.-ปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเวลานั้น ตลอดจนช่วงปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยบ้างเรียนผ่านออนไลน์ บางเข้าเรียนภาคปฏิบัติ และนักศึกษาต่างชาติที่ไม่อาจเดินทางกลับบ้านได้จากมาตรการงดการเดินทาง รวมถึงบุคลากรบางส่วนที่ยังเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยโดยมีมาตรการการปฏิบัติตนท่ามกลางการระบาดโควิด-19
.
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักศึกษากลับเข้าชั้นเรียนในเทอม 2/2564 มหาวิทยาลัยตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อวางแผนดำเนินการเปิดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยจะผสานมาตรการทั้งในระดับประเทศ จังหวัด และแนวทางและหลักเกณฑ์การเปิดสถานที่ทำการของสถาบันอุดมศึกษา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบไว้ ซึ่งได้เตรียมมาตรการรองรับการรับนักศึกษากลับเข้าชั้นเรียน 4 ข้อสำคัญด้วยกันคือ ป้องกัน คัดกรอง ดูแล และรักษา 
.
สำหรับการป้องกันนั้นมีครอบคลุมตั้งแต่การเดินทางกลับเข้าหอพัก การจัดการเรียนการสอน การดูแลตนเองระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยมี MFU.START โปรแกรมที่มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้แจ้งวันเวลาในการเดินกลับมหาวิทยาลัย พร้อมแนบหลักฐานการได้รับวัคซีน ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นลงทะเบียนเข้า-ออกชั้นเรียนหรือตรวจสอบความหนาแน่นก่อนการเข้าใช้พื้นที่ส่วนกลาง อย่างโรงอาหารหรือห้องสมุด รวมถึงยังประเมินความเสี่ยงของตนเอง ทั้งนี้นักศึกษาเลือกพักอาศัยหอพักภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัยได้ หากต้องการพักหอพักในมหาวิทยาลัย ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม กรณีที่นักศึกษายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มหาวิทยาลัยจะจัดสรรวัคซีนให้ โดยให้ติดต่อโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่วนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนต้องการพื้นที่เพื่อเว้นระยะห่างและจำกัดเวลาการอยู่รวมกลุ่มไม่เกิน 2 ชั่วโมง บางชั้นเรียนอาจต้องใช้ On line เข้ามาเสริม เรียนแบบ Hybrid learning การเรียนรู้แบบผสมผสานตามความเหมาะสม
.
การคัดกรอง การดูแล และรักษานั้น เบื้องต้นมหาวิทยาลัยจะมีการตรวจ ATK เชิงรุก ทั้งให้บริการชุดตรวจ ATK ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ตรวจตนเองก่อนเข้าเรียนในวันแรก ตลอดจนให้บริการตรวจ ATK กรณีมีความเสี่ยงหลังประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่าน MFU.START หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตจากจังหวัดเชียงรายให้ดำเนินการจัดสถานที่กักกันตัว (Quarantine) สำหรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงสูงและแพทย์ให้ความเห็นว่าต้องกักตัว และสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID 19) สำหรับนักศึกษาและบุคลากรที่ติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการไม่มาก (สีเขียว) และหากมากกว่านั้นมหาวิทยาลัยสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
.
ก่อนจบกิจกรรมอธิการบดีพบผู้ปกครองและนักศึกษา อธิการบดีได้ฝากถึงผู้ปกครองเกี่ยวกับแนวทางของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาส และโดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 หากผู้ปกครองมีอุปสรรคเกี่ยวกับทุนสำหรับการศึกษาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาที่มีความหลากหลายสำหรับความขาดแคลนที่มีอยู่หลากหลายเช่นกัน จากนั้นจึงเป็นการตอบคำถามที่ผู้ปกครองและนักศึกษาให้ความสนใจซักถามผ่านสื่อต่างๆ เข้ามา อย่าง ‘มหาวิทยาลัยมีแนวทางให้เลือกเรียน On lineหรือOn siteได้หรือไม่’ อธิการบดีให้คำตอบว่าให้เรียน On site เพื่อพยายามรักษาคุณภาพการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาให้มากเท่าที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการได้ เป็นต้น 

  • 814 ครั้ง