มฟล. จัดนิทรรศการผลงาน – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตร

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

              เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2559 ที่หอประชุมสมเด็จย่า หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสำนักงานอธิการบดี และได้ทอดพระเนตรนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยได้เตรียมไว้ในหัวข้อ ใต้ร่มพระบารมี 2 ทศวรรษ, มฟล.กับการฟื้นฟูชีวิตให้น่าน, เชียงรายเมืองสมุนไพร, โครงการบริการทางการแพทย์ โครงการทันตกรรมบรมราชชนนี โครงการหน่วยแพทย์อาสา บรมราชกุมารี และนิทรรศการ หนึ่งเจ้าฟ้า สามสายสัมพันธ์ โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี ถวายรายงานร่วมกับผู้บริหารและคณาจารย์ที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ

              สำหรับนิทรรศการในหัวข้อ ใต้ร่มพระบารมี 2 ทศวรรษ ได้แก่ พ.ศ. 2541 ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, พ.ศ.2546 กองทุนการศึกษาสิรินธรเพื่อนักศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดาร เทิดพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาได้รับทุนรวม 416 คน จำนวน 12,552,400 บาท, พ.ศ. 2547 พิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตรุ่นแรก และพิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร, 

              พ.ศ. 2548 กองทุนสิรินธรเพื่อพัฒนาครูสอนภาษาจีน เพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา จัดหลักสูตรอบรมภาษาจีน จำนวน 312 โครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการ 27,067คน, พ.ศ. 2549 มูลนิธิ 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์และกิจการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, 

              พ.ศ. 2550 สวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชา, พ.ศ.2553 โครงการทันตกรรมบรมราชชนนี ให้บริการทันตกรรมมาแล้ว 24,014 ราย และพ.ศ. 2560 หน่วยแพทย์อาสาบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 62 พรรษา

       มฟล.กับการฟื้นฟูชีวิตให้น่าน เป็นหัวข้อในลำดับถัดมา มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานวิจัยกับการฟื้นฟูป่าน่าน ตามที่โครงการวิจัยของคณาจารย์ มฟล. เรื่อง ‘การสูญเสียและการฟื้นฟูป่าไม้ในจังหวัดน่าน’ ที่คณะนักวิจัยได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูป่าน่านอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานเชิง บูรณาการ แบบ 4 ประสาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันหยุดยั้งการบุกรุกป่า และสร้างป่าให้เป็นแหล่งอาชีพ ด้วยการสร้างทางเลือกที่ดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

              คณะนักวิจัยจึงได้เสนอ 3 โครงการ เพื่อดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านบาท ได้แก่ โครงการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โครงการสร้างแรงบันดาลใจ ไขประตูสู่อนาคต และโครงการสร้างอาชีพ นำร่องปลูกสมุนไพร 

              โดยเฉพาะการนำร่องปลูกสมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีเกษตรกรจำนวน 53 ครัวเรือน จากหมู่บ้านห้วยลอย ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เข้าร่วมทำเกษตรอินทรีย์ในการปลูกสมุนไพร สร้างรายได้จำนวน 200,000 บาทจากพื้นที่ 20 ไร่ จากเดิมต้องใช้พื้นที่กว่า 400 ไร่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เตรียมขยายพื้นที่ในปีต่อไป

      จากนั้นจึงเข้าสู่หัวข้อ เชียงรายเมืองสมุนไพร ที่ มฟล.ดำเนินการร่วมกับจังหวัดเชียงรายในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการปลูกและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร  การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในโรงพยาบาลและจัดจำหน่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ได้ตำรับยาที่ผ่านการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ 

               ทั้งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่รวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพร ศึกษาลักษณะประจำสายพันธุ์ ไปจนถึงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ส่งเสริมการใช้สมุนไพร และการพัฒนาระบบการตลาด โดยได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวน 11 ชนิด ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘เจ้าคุณวัน’ วางจำหน่ายจริง เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาการใช้สมุนไพรครบวงจร

      และสำหรับ โครงการบริการทางการแพทย์ ที่แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ โครงการทันตกรรมบรมราชชนนี ได้รับพระราชทานชื่อ เมื่อปี 2553 ให้การบำบัดรักษาทางทันตกรรมแบบครบวงจรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้และด้อยโอกาส มีผู้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2555 – 2560 รวม 24,014 ราย และหน่วยแพทย์อาสา บรมราชกุมารี ที่ได้รับพระราชทานชื่อ เมื่อปี 2560 เข้าถึงผู้ป่ายยากไร้ ให้การดูแลรักษาด้วยสหวิชาชีพ ประสานกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น โดยระยะที่ 1 ดำเนินโครงการในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ก่อนขยายพื้นที่จังหวัดเชียงรายในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ขยายไปยังจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยได้ทำการเชื่อมโยงการออกหน่วยเข้าสู่การเรียนการสอน

               นอกจากนี้ ยังมี นิทรรศการ หนึ่งเจ้าฟ้า สามสายสัมพันธ์ ที่แสดงเนื้อหาให้เห็นว่าด้วยบารมีปกเกล้าจึงได้มีศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรขึ้น โดยใน พ.ศ. 2547 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงว่า ‘ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร’ มีภารกิจส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน เผยแพร่วัฒนธรรมจีน และขับเคลื่อนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

             ทั้งได้แสดงข้อมูลที่บอกถึง เจ้าฟ้านักการทูต สานสัมพันธ์ไทย – จีน (พ.ศ. 2524 - 2560) ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 40 ครั้ง ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่าง 2524 – 2560 

             ก่อนจะเล่าถึง‘ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร’ ที่นำมาสู่สายสัมพันธ์เชื่อมต่อภาษา วัฒนธรรม ความมั่นคงทางสังคมและประชาชน ทั้งจากจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษาภาษาจีนไปแล้ว 1,517 คนที่ออกไปรับใช้สังคม ผลงานวิจัยกว่า 100 รายการ ที่มีประโยชน์ต่อวิชาการด้านภาษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมที่จัดเพื่อสัมพันธภาพ ไทย - จีน จำนวน 1,071 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 174,896 คน

             โดยในช่วงท้ายของนิทรรศการ มีนักศึกษาที่มีความพิการทางสายตา จากสำนักวิชาจีนวิทยา เฝ้ารับเสด็จและได้ร่ายบทกลอน (จากหนังสือหยกใสร่ายคำ พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในบท ความคิดคำนึงในคืนสงบ) ผ่านการอ่านจากอักษรเบรลล์ โดย น.ส.นันทพร ก้อนรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ มี นายวุฒิชัย แซ่ลี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ตอกอักษรเบรลล์ลงบนกระดาษเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

       

  • 2225 ครั้ง