สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง Immuno Oncology พระราชทานแก่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ มฟล.

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงแสดงปาฐกถาพิเศษพระราชทานแก่คณาจารย์และนักศึกษา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง Immuno Oncology โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี เฝ้ารับเสด็จ ณ อาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นวันแรก

"ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง" เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง โดยระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นเพื่อให้กำจัดสิ่งแปลกปลอม คือ เซลล์มะเร็งออกไปจากร่างกาย จัดเป็นแนวทางใหม่ และเป็นอีกทางเลือกในการรักษามะเร็งที่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการรักษาแบบเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี

โดยวันนี้ ทรงแสดงปาฐกถาในหัวข้อ "ระบบภูมิคุ้มกันกับโรคมะเร็ง หรือ The immune system and cancer เป็นหัวข้อแรก เพื่อปูพื้นฐานความรู้ด้านระบบภูมิคุ้มกันที่มีการทำงานที่ซับซ้อน แบ่งเป็น ภูมิคุ้มกันที่ได้มาแต่กำเนิด และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งผสานการทำงานร่วมกัน สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติ กับผิดปกติได้ โดยไม่ทำลายเซลล์ของร่างกาย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันสามารถจดจำเซลล์ของร่างกายได้
สำหรับภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด จะมีเซลล์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ ที่ทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะภูมิคุ้มกันทั่วไป สามารถจำแนกคุณลักษณะในระดับโมเลกุลบนผิวเซลล์ของ "เซลล์แปลกปลอม" หรือ "เซลล์ผิดปกติ" โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสมาก่อน และจะส่งสัญญาณไปยังเซลล์อื่นๆ ของระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปอย่างรวดเร็ว หากภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะมีการใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งพัฒนามาจากการจดจำการสัมผัสเซลล์แปลกปลอม แล้วทำให้เกิดการตอบสนองกับเซลล์ที่ผิดปกติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แอนติเจนของเซลล์มะเร็งที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นตัวบ่งชี้มะเร็ง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค และนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการรักษาได้

ชมประมวลภาพได้ที่นี่

  • 807 ครั้ง
  • #สำนักวิชาแพทยศาสตร์