มฟล. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ หวังสร้างมาตรฐานการวิจัยระดับสากล

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

    ส่วนบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดการอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety and Biosecurity Training Course) หลักสูตรอบรมภาคภาษาอังกฤษ ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคาร M-Square มฟล. โดยมี นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งที่เป็นนักศึกษานานาชาติ อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และได้รับเกียรติจากวิทยากร ดร.ฉายสุรีย์ ศุภวิไล ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่อง กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคามปลอดภัยทางชีวิภาพ (Biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ผศ. ดร.วีระชัย ทิตภากร อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ บรรยายเรื่อง การจัดการความเสี่ยงทางชีวภาพ (Biorisk Management) และอีกหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

     นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมมือกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Center for Genetic Engineering and Biotechnology: BIOTEC) จัดหลักสูตรอบรมภาคภาษาอังกฤษเรื่อง "ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดความรู้และความเข้าใจแก่นักวิจัย นักศึกษาต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในห้องปฏิบัติการชีวภาพ เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีความปลอดภัย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านคือ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย และ ผศ. ดร.วีระชัย ทิตภากร รวมทั้ง ดร.ฉายสุรีย์ ศุภวิไล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกด้วย

      ทั้งนี้ การวิจัย ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้นำมาใช้ในการเรียนการสอน การพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพในด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันการทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยตามหลักสากลในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีการดูแลความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการวิจัยการทดลองนั้น มีความปลอดภัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยและผู้ปฏิบัติงาน จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผลงานวิจัยที่ได้มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับต่อไป

 

 

  • 452 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย