สนว.วิทยาศาสตร์ จัดอบรม “ชุดการไทเทรตอย่างง่ายโดยการใช้อินดิเคเตอร์จากธรรมชาติ” ในรูปแบบสะเต็มศึกษาให้นักเรียนจาก 5 โรงเรียนเครือข่าย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดโครงการ “ชุดการไทเทรตอย่างง่ายโดยการใช้อินดิเคเตอร์จากธรรมชาติ” ให้แก่นักเรียนจาก 5 โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ โรงเรียนวัดถ้ำปลาวิทยาคม โรงเรียนแม่จันวิทยาคม โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนเวียงแก่นวิทยาลัย และโรงเรียนพานพิทยาคม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2560 ณ อาคารสำนักวิชา 3 มฟล.

ผศ.ดร.พัชรีย์ พริบดีเวช อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และให้ความสำคัญในการเรียนรู้ของนักเรียนผู้ที่จะมีบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระดับครัวเรือนและชุมชนในอนาคต ทางสำนักวิชาจึงได้ทำการศึกษาเรื่องการพัฒนาชุดไทเทรตอย่างง่ายโดยใช้อินดิเคเตอร์จากธรรมชาติ เพื่อให้นักเรียนได้นำไปใช้ตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ของตัวอย่างสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับ สสวท. ที่มีแผนในการพัฒนาศักยภาพการคิดควบคู่การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียน โดยบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) ผ่านการทำงานวิจัยระดับนักเรียน

“การจัดโครงการชุดการไทเทรตอย่างง่ายโดยการใช้อินดิเคเตอร์จากธรรมชาติ จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการไทเทรตและการใช้อินดิเคเตอร์ จากนั้นให้นักเรียนได้วางสมมติฐานจากสิ่งที่ทางสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. ได้จัดเตรียมไว้ให้ และให้นักเรียนได้ลงมือทดลองจริง โดยมีคณาจารย์จาก มฟล. และคุณครูของแต่ละโรงเรียนเป็นพี่เลี้ยงในการทดลอง หัวใจสำคัญของโครงการคือการที่นักเรียนแต่ละโรงเรียนได้ช่วยกันออกแบบชุดไทเทรตอย่างง่าย เพื่อนำไปศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง โดยจะต้องตรวจสอบและอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ เช่น การเกิดน้ำกระด้าง ดินเปรี้ยว ดินเค็ม เป็นต้น อันจะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาและวิธีแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยทางสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. จะมีการติดตามผลของแต่ละโรงเรียน และนำผลงานวิจัยของโรงเรียนเข้าร่วมการประกวดงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบของ สสวท. ต่อไป” ผศ.ดร.พัชรีย์ กล่าว

  • 2617 ครั้ง