สำนักวิชานวัตกรรมสังคมกับบัณฑิตรุ่นแรก

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีการศึกษา 2559 มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ มีบัณฑิตรุ่นแรก หลังจากที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศไทยและมีส่วนในการพัฒนาประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โอกาสพิเศษนี้จึงมีตัวแทนบัณฑิตมาบอกเล่าถึงสาขาวิชาสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา

ตัวแทนบัณฑิตคนแรกคือ บุษบากร ติรรักธรรมกิจ ปัจจุบันทำงานที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของกลุ่มความร่วมมืออาเซียน เลือกเรียนในสาขาวิชานี้เนื่องจากมีความสนใจเรื่องระหว่างประเทศ และเลือก มฟล. เพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตรงตามต้องการที่อยากพัฒนาไปพร้อมกัน

บุษบากร บอกถึงสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากสาขาวิชานี้ว่า “การพัฒนาคือการทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และในทางกลับกันการพัฒนาก็สามารถทำลายสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ได้เช่นกัน ถ้าไม่มีการบริหาร การจัดการและวางแผนที่ดี ที่ถูกต้อง และหากทำไปเพื่อคนบางส่วนหรือบางกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อส่วนร่วม ดังนั้นการพัฒนาที่ดีควรให้ประโยชน์มากกว่าโทษหรือผลกระทบที่ไม่ดีตามมาที่หลัง”

 

หลักการนี้เธอใช้ยึดเป็นหลักการทำงาน และยังใช้เป็นแนวทางการพัฒนาตนเองอีกด้วย เธอทวนคำสำคัญว่า วางแผน หาต้นเหตุ หาแนวทางแก้ไขให้ดีก่อนลงมือทำเสมอ

การเรียนการสอนในสาขาวิชานี้ สร้างให้บุษบากรเป็นคนช่างคิดช่างสงสัยและค้นหาคำตอบ โดยมีบรรยากาศการเรียนการสอนเป็นส่วนผลักดันสำคัญ

“ในห้องเรียนต้อง active ต้องคอยมีส่วนร่วม คิดตาม หรือตอบคำถามของอาจารย์ ทำให้ต้องเตรียมตัวเอง ต้องอ่านมาก่อน เตรียมข้อมูลเพื่อตอบคำถาม ตรงจุดนี้ที่ทำให้เรากลายเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย ขยัน และตั้งใจฟังมากขึ้น หรืองานที่มอบหมายหรือการสอบ ก็เน้นให้เรารู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ ใช้ทฤษฎีที่เรียนมากับเคสตัวอย่าง ยกมาวิเคราะห์เพื่ออธิบาย นอกจากนี้ยังเน้นการทำ Research ในหลายๆ รายวิชา ทำให้ได้ลงมือทำ ได้ลงพื้นที่ ได้รู้จักการคิด ได้รู้จักการริเริ่มและปรับใช้ความรู้ที่เรียนมาจริงๆ”

การเรียนการสอนยังพัฒนาให้เธอมีความมั่นใจ ทั้งด้านภาษา ซึ่งเพื่อนต่างชาติมีส่วนช่วย ไม่เฉพาะได้พูดได้ฟังเท่านั้น แต่ตัวตนที่พวกเขาแสดงออกมาเป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นให้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้นในการเรียน เรียนแบบคุ้มค่ามาก หรือในด้านความกล้าหาญ กล้าคิดกล้าพูด ทั้งยังมีด้านบุคลิกภาพที่มหาวิทยาลัยใส่ใจเรื่องการแต่งกายถูกกาลเทศะ จึงได้เป็นนิสัยติดตัว เมื่อก้าวสู่สังคมการทำงานจึงเป็นไปด้วยดี

และตัวแทนบัณฑิตอีกคนเป็นชาวต่างประเทศ Mr. Muhammad Khalid Wardana มาจาก จังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Admission consoler ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เริ่มต้นเล่าว่า เลือกเรียนที่ มฟล. เพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเลือกเรียนสาขานี้ด้วยความชอบ ที่สอนเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักการที่เป็น International ไม่ใช่แค่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสอนเกี่ยวกับการรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การสร้างและทำชุมชนให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ

เมื่อถามถึงสิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนในสาขาวิชานี้ Khalid ตอบว่า “มีหลายอย่างมาก แต่ถ้าให้สรุป ผมคิดว่าได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการที่จะพัฒนาชุมชนๆ หนึ่งให้เป็นชุมชนที่พัฒนา มาตรฐานของการพัฒนานั้นไม่ได้มีเพียงมาตรฐานเดียว นอกจากนี้แล้วก็ยังได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาชุมชนนั้นก็ทำได้หลากหลายวิธีและหลายทฤษฏี และสิ่งที่ชอบอีกอย่างคือมีการนำกรณีศึกษาจริงหลายกรณีมาศึกษาในชั้นเรียนจริง”

และมหาวิทยาลัยแห่งนี้พัฒนาตัวเขาอย่างไร Khalid ระบุว่า “มีหลายอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ทักษะการสนทนา ผมได้ฝึกการสนทนาเยอะมากในชั้นเรียน นอกจากนี้แล้วก็ยังทำให้ความคิดและความเชื่อของผมเปลี่ยนไป มันทำให้ผมรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายนักแต่มันก็ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่จะทำให้มันเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมรักสาขาวิชานี้”

บัณฑิตต่างชาติคนนี้ยังเล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนที่นี่ว่า เป็นชั้นเรียนเล็กๆ มีตัวอย่างดี มี Case studyให้ศึกษา และอาจารย์ผู้สอนก็สอดแทรกทัศนคติมุมมองต่างๆ ลงไปในบทเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดและพูดถึงอยู่แล้วในสังคมโลก ทำให้เข้าใจบทเรียนง่ายมากยิ่งขึ้น และการถกเกียงกันในห้องเรียนก็เป็นประโยชน์มาก เพราะแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเองหากแต่การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดความคิดและนวัตกรรมใหม่ขึ้น ซึ่งดีมาก

นอกจากนี้เพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเรียนรู้การยอมรับฟังในความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าเชื้อชาติหรือศาสนา เพื่อสันติแล้ว Khalid บอกว่าไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยไปทุกเรื่อง “เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกันไปทุกเรื่อง หากแต่เราต้องรับฟังซึ่งกันและไม่ไปตัดสินคนอื่น และเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราไม่ได้อยู่คนเดียว และชีวิตในมหาวิทยาลัยหากคุณไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คุณก็จะไม่ได้รับความเครารพจากเขา และเขาก็ไม่อยากเป็นเพื่อนกับคุณ”

บัณฑิตนวัตกรรมสังคมพร้อมแล้วที่จะสร้างสังคมใหม่

  • 7137 ครั้ง