มฟล. เข้าร่วม "ภาคีความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย-จีน อว." ใช้ศาสตร์แพทย์ตะวันออกสู้โควิด-19

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานประชุมหารือกลุ่มแพทย์แผนไทย-จีน จาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อระดมการแพทย์ทุกศาสตร์เข้ามาช่วยกันจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย-จีน อว.” โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.วันชัย ศิริชนะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ รศ.ชุษณะ รุ่งปัจฉิม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี พร้อมด้วย ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี อาจารย์ ดร.พญ. สุลัคณา น้อยประเสริฐ คณบดีสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร อาจารย์ฤทธิชัย พิมปา และอาจารย์ธิติ พันธ์เจริญ อาจารย์สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ ณ ห้องประชุมแม่ข้าวต้ม อาคารวันชัย ศิริชนะ มฟล.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ในการแพร่บาดของโควิด-19 ที่ยังหนักหน่วง จำเป็นที่จะต้องระดมการแพทย์ทุกศาสตร์เข้ามาช่วยทั้งการป้องกันและรักษา จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย-จีน อว.” ซึ่งจะมีคณะแพทย์แผนไทย-จีนในสถาบันอุดมศึกษา อว. รวมถึง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุขมาเข้าร่วมกัน การตั้ง “ภาคีความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย-จีน อว.” จะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการยกระดับการแพทย์แผนไทย-จีน และจะทำให้คนไทยได้ทราบถึงประสิทธิภาพในการรักษาของแพทย์ตะวันออกที่ไม่แพ้แพทย์ตะวันตก โดยเรื่องแรกที่ภาคีชุดนี้จะเร่งดำเนินการคือการวางแผนผลิตยาสมุนไพรไทย-จีน ที่มีทั้งประเภทป้องกัน รักษา และฟื้นฟู เพื่อบรรจุลงใน กล่อง “อว.พารอด” ซึ่งจะส่งไปถึงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวหรือผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน

ด้านอาจารย์ฤทธิชัย พิมปา สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มฟล. ได้กล่าวถึงแนวทางการดูแลสุขภาพด้วยยาสมุนไพรตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า การแพทย์แผนไทยเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดูแลสุขภาพของประชาชนไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไทย เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ อันเกิดจากการหลอมรวมวัฒนธรรมของอารยะธรรมต่าง ๆ มีแนวความคิดที่ว่าร่างกายมนุษย์ ประกอบด้วยธาตุ 4 ที่ทำงานกันอย่างสมดุล หากว่าธาตุใดธาตุหนึ่งทำงานไม่สมดุลแล้วย่อมเกิดการเจ็บป่วย  โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำธาตุของร่างกายไม่สมดุลได้เช่นกัน วิธีการดูแลรักษาจึงมุ่งเน้นการปรับสมดุลธาตุ โดยปรับสมดุลธาตุในทุกมิติสุขภาพ ดังนี้

การส่งเสริมและป้องกันโรค นอกจากจะดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ในระยะนี้ควรปรับสมดุลธาตุไฟให้บริบูรณ์ กล่าวคือธาตุไฟ เป็นธาตุแห่งความร้อน สามารถเผาผลาญสิ่งแปลกปลอม และสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ โดยการเลือกรับประทานพืชผักสมุนไพร หรือยาสมนุไพร ที่มีรสร้อน รสเปรี้ยว เช่น กระเทียม กระชาย พริกไทย โหระพา เป็นต้น ส่วนยาตำรับที่สามารถปรับสมดุลธาตุในระยะนี้ได้ เช่น ยาตรีผลา ยาตรีพิกัด ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มตำรายารสเปรี้ยว รสร้อน เป็นต้น ทั้งนี้ การรับประทานสมุนไพรในระยะนี้ ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 7 วัน หากเกินกว่านั้นให้หยุดพัก และปรับเปลี่ยนเป็นตัวยาอื่นทดแทน

การรักษาโรค เมื่อมีไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ธาตุไฟมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น เช่น มีไข้ตัวร้อน บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เป็นไข้พิษ ไข้กาฬได้ ระยะนี้นอกจากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังสามารถเลือกรับประทานพืชผักสมุนไพรที่มีรส ขม เย็น จืด เพื่อปรับบทบาทอิทธิพลของธาตุไฟได้ เช่น มะระ มะระขี้นก ตำลึง ใบบัวบก เป็นต้น ส่วนตำรับยาที่แนะนำหากมีอาการไข้ ตัวร้อน ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร ยาเบญจโลกวิเชียร (ยาห้าราก) ยาจันทน์ลีลา ยาประสะจันทน์แดง เป็นต้น ทั้งนี้ควรปรึกษาการใช้ยากับแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์

การฟื้นฟูสุขภาพ ระยะนี้จำเป็นต้องปรับธาตุโดยรวมให้กลับมาสมดุล โดยพิจารณาอาการเจ็บป่วยที่ยังหลงเหลือ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย ระบบย่อยอาการไม่ปกติ ซึ่งสามารถใช้สมุนไพรหรือตำรับยาเพื่อแก้อาการ และปรับสมดุลธาตุหลังการการฟื้นไข้ได้ โดยเฉพาะธาตุลม สามารถเลือกรับประทานพืชผักสมุนไพรที่ปรับธาตุลมได้ เช่น ขิง ข่า เกสรดอกไม้ เป็นต้น ส่วนตำรับยาที่สามารถใช้ได้ในระยะนี้ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมแก้ลมวิงเวียน ยาขิง ตรีเกสรมาศ ยามันทธาตุ และยาธาตุบรรจบ เป็นต้น ทั้งนี้ควรปฏิบัติตนตามชีวิตวิถีใหม่ และหากต้องการใช้ยาสมุนไพรควรปรึกษาการใช้ยากับแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์

ที่มา: สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ

  • 1381 ครั้ง
  • #สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ