มฟล. หนุนเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก จับมือรัฐ-เอกชนจัดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน ผู้ว่าฯ เชียงรายขานรับพร้อมเปิดเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

      เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, นายปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และ นางจุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2564 (Chiang Rai Sustainable Design Week 2021) ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ถนนสิงหไคล อ.เมือง จ.เชียงราย

     องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยมี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นที่ปรึกษา  พร้อมด้วยความร่วมมือจากองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดตัว "เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2021" หรือ "Chiang Rai Sustainable Design Week 2021" ระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการจัดกิจกรรมนานาชาติ ด้านการออกแบบบริการ (Service Design) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” มีเป้าหมายให้เทศกาลนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและบรรจุในปฏิทิน World Design Week ภายในระยะเวลา 3 ปีจากนี้

      โดยการจัดครั้งแรกในปี 2564 นั้น อยู่ภายใต้แนวคิด "ความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม" มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เน้นวิถีความยั่งยืน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงาน จำหน่ายสินค้า และทดลองตลาดผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังต้องการสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และขยายผลในระดับชาติเชื่อมโยงระดับนานาชาติ ระหว่างเครือข่ายด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ให้มีศักยภาพในการปรับตัวและสร้างโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ

      กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อแสดงศักยภาพและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบการบริการ และผลักดันให้จังหวัดเชียงรายเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวของจังหวัดเขียงราย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดเชียงรายในการเป็นเมืองแห่งการค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยว ที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม

     ผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรม เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2021 ได้ทางเพจ Creative City Chiangrai  (https://www.facebook.com/creativecitychiangrai)

       นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงราย มีเป้าหมายตรงกับนโยบายของจังหวัดและถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ในการเตรียมเปิดการท่องเที่ยวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เมื่อวัคซีนเราทำงานได้ผลก็จะมีการแถลงข่าวใหญ่เกี่ยวกับการจัดงานต่างๆ ต่อไป เช่น งานเชียงรายดอกไม้งาม มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย

     “เชียงรายมีความเหมาะสมในทุกประการ มีความโดดเด่นในเรื่องของการออกแบบ ถือเป็นนครแห่งศิลปะและมีศิลปินกว่า 300 ชีวิต ซึ่งศิลปินแห่งชาติเองเราก็มีหลายท่าน ปัจจุบันท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็มาดูแลเรื่องของงานด้านศิลปะในทุกแขนง นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งชาและกาแฟ เป็นเมืองแห่งกีฬา เราสามารถบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน วันนี้เราได้รับเกียรติจากการปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ”

    “กระทรวงวัฒนธรรมได้คัดเลือกจังหวัดเชียงรายและเพชรบุรี เพื่อเสนอชื่อเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก วันนี้เชียงรายจึงประกาศตัวเป็นเมืองออกแบบเพื่อความยั่งยืน จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในจังหวัดในเรื่องของการออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เรื่องของกินของใช้ สถานที่ ผมได้คุยกับนายกสมาคมขัวศิลปะและอาจารย์เฉลิมชัย เราจะดูเรื่องงานของศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมตามท้องถนนต่างๆ รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้กระทั่งเทศกาลด้าน Service Design เช่น งานมหกรรมไม้ดอก ปีนี้ก็ได้ดีไซน์ให้แตกต่างจากเดิม ไม่ได้รวมกันอยู่ในจุดเดียว แต่จัดไว้ใน 4 มุมเมืองเลยก็ว่าได้”

     “กิจกรรมงานต่างๆ ก็จะมีรูปแบบสอดคล้องกับการออกแบบสร้างสรรค์ตามแนวคิดของจังหวัด ก็คือความสมดุลของธรรมชาติและวัฒนธรรม เราไม่โตแบบศิวิไลซ์ เราต้องการโตแบบธรรมชาติผสมผสานด้วยวัฒนธรรม งานศิลปะที่ออกมาจะเป็นศิลปะร่วมสมัย มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนาในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งศิลปะอย่างยั่งยืน”

      “วันนี้เรามีพี่เลี้ยงจากหลายภาคส่วนช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดงาน เรื่องของงบประมาณ เรื่องของการสร้างเชียงรายให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งจะเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงแค่คนเชียงรายแต่เป็นคนไทยทั้งประเทศ หากเมืองของเราติดอันดับโลก นั่นหมายความว่าย่อมเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

       “จังหวัดเชียงรายตั้งใจที่จะเปิดเมืองในเรื่องของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง โดยเปิดเมืองด้วยความปลอดภัย เรียนยืนยันว่าการเปิดเมืองของจังหวัดเชียงรายคงไม่ได้เปิดไปตามความรู้สึกหรืออารมณ์ แต่เปิดด้วยพื้นฐานของข้อมูลจำนวนการฉีดวัคซีน จำนวนของผู้ติดเชื้ออยู่ในแนวโน้มที่ปลอดภัย เราจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม”

      “ผมยืนยันว่าเมื่อความปลอดภัยถึงจุดที่เราได้กำหนดไว้ เราก็พร้อมที่จะเปิดเมือง ซึ่งจะสอดรับกับทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งจะมีเทศกาลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง กิจกรรมต่างๆก็จะกลับคืนมาด้วยการขับเคลื่อนทางด้านของมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขอเรียนยืนยันว่าการเปิดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงราย 2021 ในวันนี้ต้องบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้น และเราจะเฝ้ามองเมื่อยูเนสโกได้ประกาศออกมาก็คงทำให้เมืองของเรามีศักยภาพเต็มรูปแบบในการรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง” ผู้ว่าราชการเชียงราย กล่าว

       รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานและกล่าวถึงการจัดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงรายว่า นับว่าเป็นการประสานความร่วมมือกันที่เข้มแข็งเพื่อเป็นการประกาศตนเพื่อที่จะให้การทำงานของจังหวัดเชียงราย เพื่อก้าวสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

     “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นสถาบันการศึกษา มีภารกิจหลักคือทำงานเรื่องของการศึกษา เรื่องของการพัฒนาในเชิงวิชาการอย่างยั่งยืน แต่สิ่งสำคัญอีกงานหนึ่งที่ของเราก็คือการบริการวิชาการสู่สังคม นำความเด่นชัดของมหาวิทยาลัยออกมาทำงานนี้ให้สำเร็จ”

      “จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่มีความมหัศจรรย์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องศิลปวัฒนธรรม เรื่องของสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมนี้ เชื่อมั่นว่าเป็นเรื่องสำคัญของจังหวัดเชียงราย ซึ่งมหาวิทยาลัยอยากจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงหลายภาคส่วน บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ในเรื่องความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือศิลปินในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีอยู่ในทุกที่ทุกสถานของจังหวัด เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้อย่างชัดเจนให้กับชุมชน เพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบไปอย่างยั่งยืน”

      “การจัดกิจกรรมเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2021 นี้ แนวคิดที่สำคัญคือความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทยที่จะมีความพร้อมจัดได้สวยงามและมีความสำเร็จ คือที่จังหวัดเชียงราย สิ่งนี้สำคัญมากๆ เพื่อที่จะตอบสนองสิ่งที่เราพยายามที่จะผลักดัน ก็คือการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งเป็นเรื่องหลักและเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ และระดับนานาชาติ มีเป้าหมายที่จะบรรจุให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในปฏิทินของ World Design Week ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปีที่จะถึงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะส่งเสริมสนับสนุนนักออกแบบนักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

       “ที่นี่ไม่ได้มีแค่เพียงศิลปิน ที่นี่เป็นเมืองชาและกาแฟ ที่นี่มีความสวยงามของวัฒนธรรม และอื่นๆ ที่เราอยากจะเชื่อมโยงทุกอย่าง โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเอง พยายามที่จะเป็นตัวกลาง และทำให้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราอยากสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสร้างการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผลในระดับชาติ ที่จะเชื่อมโยงได้ในระดับนานาชาติต่อไป และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย”

      “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างสูงที่ วันนี้ท่านได้ให้เกียรติอย่างยิ่ง งานนี้เหมือนเป็นการปักหมุดแรก ที่จะเดินหน้าไปยังมั่นคง และมีการเปิดนิทรรศการในวันนี้ด้วย และพร้อมนี้ขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วม ท้ายที่สุดในฐานะของการร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ขอต้อนรับแขกทุกคนผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์จากเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนครั้งนี้ สู่การพัฒนาเมืองเชียงรายของเราไปอย่างพร้อมเพียงกัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าว

      นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.ชร.) กล่าวถึงบทบาทของ อบจ.ชร. ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เชิงบริการว่า เชียงรายเป็น 1 ใน 4 จังหวัดที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อส่งคัดเลือกเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกจังหวัดเพชรบุรีและเชียงราย โดยเชียงรายส่งคัดเลือกเพื่อเป็นเมืองแห่งการออกแบบ (Design city) ซึ่งทาง อบจ.ชร. ทำดครงการร่วมกับ มฟล.

     “เชียงรายของเรามีของดี เหมาะสมกับการเป็นเมืองการออกแบบ เพราะเชียงรายมีความโดดเด่นในด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีความงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอัธยาศัยและมิตรไมตรีของพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงราย ทำให้เมืองของเราเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นที่รอยยิ้ม เป็นเมืองที่มีความสุข มีเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี มีเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรามีความพร้อมในส่วนต่างๆ”

      “ในเดือนธันวาคมนี้ทางรัฐบาลประกาศจะเตรียอมพร้อมให้เปิดเชียงราย เราก็จะเปิดด้วยเรื่องของ Design week ซึ่งหมายถึงจังหวัดเชียงรายมีความเป็นเมืองออกแบบในทุกๆ มิตินั่นเอง ซึ่งสำหรับปีนี้ อบจ.เชียงราย ได้จัดงบประมาณไว้ร่วมกับ ม. แม่ฟ้าหลวง และในปีต่อๆ ไปเราก็ได้วางแผนว่าจังหวัดเชียงรายนั้นมีอะไรบ้างที่เป็นความเป็นเมืองดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ และในส่วนของปลายปีนี้เราจะจัดมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียรงาย ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ในปีนี้เราได้นำเอาสิ่งที่ดีๆ ความเป็นดีไซน์ของจังหวัดเชียงรายมารวมเป็นความมหัศจรรย์เชียงรายในงานนี้ คือการเป็นเมือง Flower and arts festival 2021” นายก อบจ.ชร. กล่าว

      ส่วน นายปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้กล่าวถึงการพัฒนาขีดความสามารถของจังหวัดเชียงราย จากการจัดกิจกรรมเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงรายว่า โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงท่องเที่ยวปลายปีของทุกปี ผู้คนก็สนใจที่จะเดินทางมาที่จังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวคนไทยเอง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทางเทศกาลนครเชียงรายจึงไดเตรียมความพร้อมในทุกด้าน โยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของชาวเชียงราย

      “เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงราย ถือว่าเป็นโอกาสโชคดีของชาวเชียงราย ที่จะให้บริการนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การเตรียมความพร้อมของเทศบาลนครเชียงรายได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลความสะอาด แสงสว่าง รวมถึงความปลอดภัยของเมือง ตลอดจนสร้างความเข้าใจกับสถานประกอบการในด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว” รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าว

     ด้าน นางจุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ (สสปน.) ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านทาง Facebook live เพจ Creative City Chiangrai

     “เชียงรายเป็นเมืองที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมและงานอีเวนท์ โดยเฉพาะงานที่มีไซส์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เรียกว่า Boutique mice เราได้มีการศึกษาร่วมกับทางม.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าเชียงรายมีเสน่ห์เฉพาะตัว สามารถขับเคลื่อนด้านนี้ได้ ทั้งนี้ชาวเชียงรายในทุกภาคส่วนได้ร่วมกันนำเสนอตัวเองเป็นเมืองเครือข่ายของ UNESCO Creative city ซึ่งเป็นเครือข่ายในระดับนานาชาติ จำเป็นต้องเป็นเมืองที่มีความพร้อมรอบด้าน”

      “การเสนอชื่อเชียงรายส่งเข้าร่วมในเรื่องของ Service design และอีกอันหนึ่งที่ทางยูเนสโกพิจารณา ก็คือความพร้อมของเครือข่ายในเมือง ซึ่งทั้ง อบจ.เชียงราย และเทศบาลนครเชียงราย มีอยู่แล้ว และ สสปน. ก็มีเป้าหมายเดียวกันในการส่งเสริมเชียงรายให้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และสามารถนำเสนอความโดดเด่นเฉพาะตัวของเชียงราย ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ความสร้างสรรค์ จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเชียงรายเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก”

      “สิ่งที่เราได้เริ่มต้นกันก็คือว่าเราจะก่อร่างสร้างตัวอย่างไร จะทำอย่างไรให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นเมืองเครือข่าย Creative city โดยที่เรามีอยู่ 2 จุด ก็คืออันดับแรก เราทำคนเดียวไม่ได้ ถึงแม้ว่าเชียงรายจะมีพลัง แต่พลังจะมากขึ้น ถ้าเราได้ทำกับเครือข่ายนอกพื้นที่ ดังนั้นประการแรกที่ สสปน. ทำงานก็คือสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายในส่วนกลาง เชื่อมให้มีการทำงานกับมืออาชีพ ที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญทาง Service design มา workshop กับทางอาจารย์ว่าคอนเซ็ปต์ของ Service design คืออะไร อีกอย่างคือทำงานร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและนิทรรศการนานาชาติไทย (TIEFA) มาช่วยกันออกแบบงานเทศกาล”

    “ต้องบอกว่างานเทศกาล หรือว่างานบางอย่างที่เราเห็นว่าประสบความสำเร็จ เหมือนในที่อื่นๆ เกิดขึ้นได้โดยมีการบริหารจัดการ ตอนนี้เราได้เอามืออาชีพหลายภาคส่วนมาช่วยออกแบบงานนี้ งานนี้จึงถือว่าได้มีการตั้งต้นอย่างถูกวิธี จะได้มีการหารือเรียนรู้แลกเปลี่ยน และสามารถนำเสนอจุดเด่นจริงๆ ของเชียงรายได้”

     “ในลำดับต่อไป ก็คือเราจะได้มีการขยายผล เติมลูกค้า และใส่เนื้อหาในส่วนของการเป็น Creative city ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะนำเสนอภาพของการเป็นเมือง Service design ให้เป็นที่รู้จักในทั่วประเทศไทย และในระดับนานาชาติด้วย ซึ่งที่เราจะได้นำสื่อมวลชน ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า เช่น บริษัท agent ที่เอาคนมาจัดประชุม หรือว่าไปจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ก็จะเอามาที่จังหวัดเชียงราย ดังนั้นเชียงรายก็จะได้มีทั้งเนื้อหาที่แน่น และสามารถประชาสัมพันธ์ตัวเองในมุมนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทาง สสปน. ยินดีที่จะสนับสนุนงานของการเป็นเมือง Creative city ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง” ผอ. สสปน. กล่าว

  • 955 ครั้ง
  • #สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง #MFii ส่วนจัดการทรัพสินทางปัญญาและนวัตกรรม #ศูนย์บริการวิชาการ