มฟล. ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ปี 2565

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

    มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 ณ ห้องประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มฟล. โดยได้รับเกียรติจาก นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานในพิธี ดร.ต่อพันธ์ ทันดร รองอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับในนามผู้แทนอธิการบดี นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับในนามผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒทอง หัวหน้าโครงการค่ายศิลปินรุ่นเยาว์ กล่าวรายงาน และนายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ เข้าร่วมพิธีเปิด ทั้งยังได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ 3 ท่านเข้าร่วมโครงการ คือ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ศาสตราจารย์ เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดยมีนักศึกษาทางด้านทัศนศิลป์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 35 คน ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ที่จะได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียรงาย และได้ร่วมฝึกอบรมเพื่อเรียนรู้การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมจากศิลปินแห่งชาติ และร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานหลังการฝึกอบรม ในวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2565 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มฟล. นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการได้รับคัดเลือกจัดแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ในส่วนของศิลปินรุ่นเยาว์อีกด้วย

      นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ โดยได้รับความกรุณาจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี และศิลปินแห่งชาติอีกหลายท่าน ให้ความช่วยเหลือโครงการมาตลอด จนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 แล้ว ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้สร้างศิลปินอาชีพขึ้นมาจำนวนหนึ่งให้กับวงการศิลปะร่วมสมัย

     “สำหรับในปี 2565 นี้ สำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะสถาบันเครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัย ในพื้นที่ทางวิชาการของจังหวัดเชียงรายมาโดยตลอด ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ และครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และยังมีกิจกรรมที่เป็นโปรแกรมการศึกษาตามมาอีกตลอดก่อนการจัดงานศิลปวัฒนธรรมดังกล่าว”

      “ตลอดมาสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ใช้งานศิลปะขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้นและเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนง ในงานนี้มีแนวคิดที่น่าประทับใจว่าศิลปะขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น RE-ANTHROPOCENC ยุคมนุษย์พลิกฟื้นคืนสมดุล หวังว่าการขับเคลื่อนครั้งนี้ผ่านผลงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนปัญหา แต่เป็นปฏิบัติการทางสังคมที่ใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน ในโอกาสนี้ขอให้โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ” นายโกวิท ผกามาศ กล่าว

    รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒทอง กล่าวรายงาน ในนามหัวหน้าหัวหน้าโครงการค่ายศิลปินรุ่นเยาว์ โดยโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ 4 ด้านคือ 1. คัดเลือกเยาวชนที่ศึกษาทางด้านทัศนศิลป์ ที่มีความสามารถโดดเด่นจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 2. พัฒนาความรู้ปละทักษะทางศิลปะร่วมสมัย ภายใต้คำแนะนำของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างกัน 3. การจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงมีโอกาสจัดแสดงในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อีกครั้งหนึ่ง”

    “โครงการได้ดำเนินการคัดเลือกเยาวชนที่ศึกษาทางด้านทัศนศิลป์ จำนวน 35 คน จากจำนวนมากกว่า 100 คนที่มีความสามารถโดดเด่นจากทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ อีกทั้งวิธีการสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย รวมถึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และการสร้างสรรค์ศิลปะจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างเครือข่าย ในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดทางด้านศิลปะระหว่างกัน ของนักศึกษาระหว่างสถาบัน”

    “โครงการที่ได้ดำเนินการในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสร้างการรับรู้และสร้างความพร้อมของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัด1 ใน 3 ของเมืองศิลปะของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรม Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ความสำคัญของการจัดกิจกรรมคือการสร้างแนวคิดเรื่องความหมายของยุคสมัย ANTHROPOCENC การที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกพลิกผันจนเกิดวิกฤตการณ์และสิ่งแวดล้อม แต่ในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้เราจะดำเนินการศิลปะ RE-ANTHROPOCENC ให้มนุษย์กลับมากู้โลกและสร้างโลกที่ดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒทอง กล่าว

    ด้าน ดร.ต่อพันธ์ ทันดร รองอธิการบดี มฟล. ได้กล่าวในนามผู้แทนอธิการบดีต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน

    “หนึ่งในพันธกิจที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้ความสำคัญ คือการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้นทางมหาลัยให้การสนับสนุนและส่งเสริมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น เราได้มีการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เราได้มีการจัดตั้งโครงการที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และได้มีการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการส่งเสริมศิลปะ การรักษาจารีตประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ”

   “แนวคิดของดครงการนี้ ผู้จัดได้ใช้คำว่า  RE-ANTHROPOCENC ซึ่งเป็นหลักทางด้านมนุษยวิทยา แนวคิดสั้น ๆก็ คือว่าเราเชื่อว่าสังคมที่มันดูแย่ลงทุกวันก็เพราะมนุษย์เป็นผู้จัดทำ เป็นผู้ทำขึ้นมา ขณะที่ถ้าสังคมจะดีขึ้น เราก็เชื่อว่ามนุษย์ก็เป็นผู้กลับมาให้ทำมันให้ดีขึ้นเหมือนเดิม สิ่งหนึ่งที่จะช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์ขึ้นได้ก็คือ งานศิลปะ ถ้าเราส่งเสริมงานศิลปะให้เป็นที่แพร่หลาย ทำให้งานศิลปะเป็นที่ช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์ เราเชื่อว่าสังคมเราก็น่าจะดีขึ้น ผมหวังว่าการจัดอบรมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในนามท่านอธิการบดี ขอกล่าวต้อนรับทุกท่าน ขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้ ขอให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี” ดร.ต่อพันธ์ ทันดร กล่าว

    ส่วน นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวต้อนรับในนามผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

    “ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ท่านภาสกร บุญญลักษม์ ท่านให้ความสำคัญกับงานศิลปะร่วมสมัยและงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเข้าร่วมและสนับสนุนงานด้านนี้มาโดยตลอด วันนี้เนื่องจากติดภารกิจทางด้านราชการจึงได้มอบหมายให้ผมมาเป็นตัวแทนกล่าวต้อนรับทุกท่าน”

    “จังหวัดเชียงราย ถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองศิลปะ และรัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม เลือกจังหวัดเชียงรายให้เป็นจังหวัดที่ 3 ต่อจากกระบี่และนครราชสีมา ที่เป็นเมืองศิลปะอย่างสมบูรณ์ และในปี 2566 ราวเดือนธันวาคม ก็จะมีการเปิดงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และจะมีงานยาวไปจนถึง 30 เมษายน 2567 เป็นงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เพราะฉะนั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกก็จะมาแสดงผลงานอยู่ในงานนี้ รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะทั่วโลก นักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวชมงานศิลปะและมาชื่นชมทัศนียภาพของจังหวัดเชียงราย ก็จะมารวมตัวกันที่นี่อย่างมหาศาล คิดว่างานนี้ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยและของนานาชาติด้วย”

    “กิจกรรมในครั้งนี้ ก็เป็นกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งอยากจะบอกว่าน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าตั้งใจฝึกฝนฝีมือ มีโอกาสที่พวกเราจะได้ถูกคัดเลือกมาแสดงในงาน แม้ว่าไม่ได้เป็นศิลปินในกลุ่มระดับนานาชาติก็ตาม แต่ในการจัดงานก็จะมีส่วนจะแสดงผลงานศิลปินรุ่นยาว์”

     “ผมคิดว่าจังหวัดเชียงราย รวมทั้งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หน่วยงาน สถานศึกษา องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และในจังหวัดเชียงรายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมขัวศิลปะ ก็จะมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัย รว่มกับเยาวชนและศิลปินทุกท่าน เพราะฉะนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่น้อง ๆ ได้เข้ามาสู่กิจกรรมนี้ ถือว่าเป็นโชคและเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ มีเพื่อนของเราอีกหลายร้อยหลายพันคนที่ไม่ได้รับโอกาสอย่างนี้ เมื่อได้รับแล้วก็อย่าให้โอกาสนี้สูญเปล่าไป ใช้โอกาสนี้ต่อยอดงาน ต่อยอดความคิด ต่อยอดแรงบันดาลใจ ที่จะสร้างสรรค์งานที่ดีขึ้นไป” 

   “เมื่อวานเมื่อที่เราได้ไปพบกับ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่วัดร่องขุ่น ท่านแนะนำพวกเราว่า เรื่องของความคิดเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องคิดไม่เหมือนคนอื่น แล้วสร้างสรรค์งานที่เป็นลายเซ็นของเรา เอาไปวางไว้ที่ไหนไม่ต้องบอกชื่อผู้คนก็รับรู้ได้ว่านี่คือตัวเรา เหมือนศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ที่มาในวันนี้ เรามองเห็นเลยผลงานชิ้นนี้คือของท่านเลยวางอยู่ที่ไหนก็คือตัวท่าน ท่านถือเป็นศิลปินที่มีคุณค่าที่โด่งดัง”

    “จังหวัดเชียงราย มีศิลปินที่มีตัวตน ผลิตงาน สร้างสรรค์งาน และอยู่ในองค์กรเครือข่ายคือสมาคมขัวศิลปะ เป็นสมาคมที่เน้นแฟ้นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นศิลปินกว่า 300 คน รวมถึงสมาชิกอื่น ๆ กว่า 800 กว่าท่าน และสร้างสรรค์งานและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยภาคีเครือข่ายทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชนแ ละภาคประชาสังคมต่าง ๆ “อยากจะให้ห้วงเวลาที่ทุกท่านที่ได้มาอยู่เชียงราย ในช่วงการทำกิจกรรมนี้เป็นห้วงเวลาที่ประทับใจ มีความสุข และได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดี ๆ”

  • 679 ครั้ง
  • #ศูนย์บริการวิชาการ