กลุ่มวิจัยพัฒนากาแฟคุณภาพ มฟล. สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการด้านกาแฟในอินโดนีเซียและเวียดนาม

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนากาแฟคุณภาพ (Coffee Quality Research Group) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นำคณะอาจารย์ภายใต้กลุ่มวิจัย ประกอบด้วย ดร.กาญจนา วัดละเอียด ดร.กิติพงษ์ คงพินิจบรรจง ดร.ขนบพร ตั้งตระกูลวนิช ดร.ประจักษ์ อิ่นแก้ว และ ดร.สมฤดี นิลทอง อาจารยประจำสำนักวิทยาศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล แสงระยับ และ ดร.สิริรุ่ง วงศ์สกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เดินทางไปสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทยในอนาคต
.
โดยได้เดินทางไปยังเมืองบันดุง (Bandung) และเมืองมาลัง (Malang) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 23-27 กรกฏาคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้ผลิตกาแฟของบริษัท KlasikBeans ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการใช้วนเกษตร (Agroforestry) มาพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสำหรับการปลูกกาแฟเชิงอนุรักษ์ป่าไม้ การสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของคนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้พบปะพูดคุยกับคณบดี คณาจารย์และนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบราวิจายา (Faculty of Agricultural Technology, Brawijaya University) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านกาแฟสายพันธุ์ลิเบอริกา (Liberica) เทคโนโลยีการหมัก และการทดสอบทางประสาทสัมผัสของกาแฟ เพื่อหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยและวิชาการ ในเบื้องต้นได้มีการตกลงทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา
.
จากนั้นได้เดินทางไปยังเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการ The 29th ASIC Conference on Coffee Science ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกาแฟจากทั่วโลก จัดเป็นประจำทุก 2 ปีโดยหมุนวนไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งทางคณะจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับกาแฟตลอดห่วงโซ่อุปทานกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในประเทศต่างๆ ในอนาคต และท้ายที่สุด ได้เข้าพบคณบดีและอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Faculty of Food Science and Technology) มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam National University of Agriculture) ซึ่งได้มีข้อสรุปในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมวิจัย โดยเฉพาะด้านการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือจากกาแฟ รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาต่อไป
 

  • 81 ครั้ง