สำนักวิชานิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ อวกาศ : เขตแดนแห่งโอกาสของมวลมนุษยชาติ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

               มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิชานิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ อวกาศ : เขตแดนแห่งโอกาสของมวลมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 – 12.00 น. ที่ห้องคำมอกหลวง อาคาร M square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี ผศ. ดร.รุ่ง ศรีสมวงษ์ คณบดี เป็นประธาน วิทยากรโดย นายดำรงฤทธิ์ เนียมหมวด ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, นางสาวปราณปริยา วงศ์ษา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, ผศ.ดร.สุธี วัฒนศิริเวช อาจารย์ประจำสำนักวิทยาวิทยาศาสตร์, ผศ.ดร.พรรณฤมล เต็มดี อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ, ผศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์, ดร.จุฑามาศ นิวัฒน์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร, ดร.จิตราภรณ์ สุทธิพงศ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์, ทพ.พัทรพล คำเงิน อาจารย์ประจำสำนักวิชาทันตแพทย์ และ นพ.อานนท์ จำลองกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และดร.ณัฐกร วิทิตตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ ดำเนินรายการ 

              ทั้งนี้การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Roadshow ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อรับขอเสนองานวิจัยการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ชิงเงินรางวัลพร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินสนับสนุน ภายในงานมีนักศึกษาและคณาจารย์จากหลากหลายสำนักวิชาเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก โดยเนื้อหาในการเสวนาจากวิทยากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ จึงทำให้ผู้เข้ารับฟังการเสวนาได้การพูดคุยถึง อวกาศ ได้ขยายขอบเขตกว้างออกไปกว่าทั่วไป โดยวิทยากรเริ่มต้นการพูดคุยว่าอวกาศไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แต่กลับใกล้กว่าที่คิด โดยยกตัวอย่างถึงมือถือที่ผู้คนใช้กันในทุกๆวันหรือการดูถ่ายทอดสดฟุตบอล หรือแม้ว่าการมอนิเตอร์ค่าฝุ่นพิษในแต่ละวันนั้นข้อมูลมาจากดาวเทียม ล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางอวกาศ 

             วิทยากรในการเสวนาได้ลองเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศเข้ากับสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องให้หลายกรณี เช่น การทำเหมืองเพื่อแสวงหาแร่ธาตุหรือทรัพยากรสำคัญในพื้นที่ดวงดาวหรือดวงจันทร์หรือการท่องเที่ยวทางอวกาศที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ด้วยก็ตาม ตลอดจนทางด้านการแพทย์ที่สนใจเรื่องอวกาศว่ามีแงมุมใดที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค อย่างคนไข้ที่เป็นแผลกดทับ ซึ่งมาจากแรงโน้มถ่วงตามปกติ หากในสภาวะไร้น้ำหนักจะมีความเปลี่ยนแปลงกับผู้ป่วยหรือไม่ ในจุดนี้ไม่มีองค์ความรู้ หากมีการศึกษาน่าจะมีโอกาสใช้ประโยชน์ได้อีกมาก เป็นต้น 

              นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ถามถึงกรณีรถฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาลหรือกู้ภัย ทำอย่างไรจึงจะปรากฏพิกัดของผู้โทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องอธิบายบอกทางอย่างทุกวันนี้ที่ใช้เวลานานกว่าจะทราบพิกัดแน่ชัดมีหลายรายที่ความช่วยเหลือไปไม่ทันเวลา

  • 1497 ครั้ง