มฟล.ประชุมร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาหมอกควัน ครั้งที่ 1/2562

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

 

           วันนี้(19 เมษายน 2562) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 1/2562 ที่ห้องประชุมดอยตุง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี เป็นประธานการประชุม ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาหมอกควัน จังหวัดเชียงราย อาทิ มณฑลทหารบกที่ 37, ตำรวจภูธร, สาธารณสุขจังหวัด, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เป็นต้น พร้อมผู้บริหารและคณาจารย์จากสำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาทิ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ รองอธิการบดี, ดร.พรรณรวี พรหมนารท รองอธิการบดี

           รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี กล่าวว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาหมอกควัน แต่ด้วยมีนักศึกษาและบุคลากรในความดูแลจำนวนกว่า 15,000 คน รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาต่างสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยจึงได้เป็นตัวแทนในการออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลขอให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังไปในช่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การจัดการประชุมเสวนากับหน่วยงานเกี่ยวข้องและสรุปผลออกเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โดยเตรียมเสนอการวิจัยการแก้ปัญหาหมอกควันระยะยาวต่อไป พร้อมประเดิมทุนจัดตั้งไปจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน ที่ทยอยให้การสนับสนุนเข้ามาทั้งเงินทุนและสิ่งของเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันต่อไป 

            โดยข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้สะท้อนว่าแต่ละหน่วยงาน ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งหน่วยงานสนับสนุนต่างดำเนินการแก้ปัญหาอย่างแข็งขันไม่ได้นิ่งนอนใจ และหน่วยงานสนับสนุนทั้งรัฐและเอกชนต่างพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ด้วยกัน แต่ที่ผ่านมาอาจขาดการประสานงาน และขาดการประชาสัมพันธ์ถึงสิ่งที่แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนขาดการเปิดช่องให้สังคมหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ด้วยกัน และการประชุมครั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน และเปิดให้สังคมหรือสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้จากการประชุมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับหน้าที่ประสานการดำเนินการความเข้าใจระหว่างฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายวิชาการ และภาคประชาชน

           นอกจากนี้ในที่ประชุม มหาวิทยาลัยได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาถึงรูปแบบการเกิดหมอกควันโดยเฉพาะจากไฟป่าในเบื้องต้นจากแผนที่จุดความร้อนหรือ hotspot จากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อหาสาเหตุการเปิดหมอกควัน โดยพบว่าช่วงแรกที่เกิดสถานการณ์หมอกควันขึ้นในภาคเหนือนั้น ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายแทบไม่ปรากฎจุดความร้อน ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่โดยรอบที่เกิดจุดความร้อนจำนวนมาก และเมื่อถึงเวลาประกาศห้ามเผา ข้อมูลจุดความร้อนเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งจำนวนที่มากขึ้นแล้ว ยังมีแพทเทิร์นการเกิดที่แปลกไปจากเดิมและแตกต่างจากพื้นที่รอบๆ จังหวัดเชียงรายด้วย อย่างในพื้นที่อื่นมักเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรซึ่งสอดคล้องกับเวลาที่เกิดเป็นช่วงบ่าย เป็นไปได้ที่มีการเผาเพื่อการจัดการที่ทำกิน ในขณะที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายนั้นมักเริ่มปรากฎจุดความร้อนในเวลาหลังเที่ยงคืนและมักเกิดในพื้นที่ป่าอย่างป่าสงวน เป็นต้น

              และแต่ละหน่วยงานยังได้รายงานที่ประชุมถึงการดำเนินงานในการจัดการกับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทั้งปัจจัยความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยแต่ละหน่วยงานต่างได้ดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันจากไฟป่าซึ่งเกิดขึ้นประจำปีมานานกว่า 10 ปี โดยที่ระยะหลังมีความเบาบางลงด้วยหลายปัจจัยทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ตลอดจนการเกิดเป็นวิกฤติขึ้นมาในปีนี้ และเป็นไปได้ที่จะมีผลต่อเนื่องไปในปีต่อไป อย่างการบังคับใช้กฎหมายเพื่อห้ามเผาหรือสภาพอากาศที่เกิดฝนตกในช่วงเวลาที่มักเกิดหมอกควันมาต่อเนื่อง 2 – 3 ปี แต่ในขณะที่ปีนี้ยังไม่มีฝนตก สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป เชื้อเพลิงสะสมจำนวนมากขึ้น รูปแบบการเผาเปลี่ยนไป หรือบางครั้งการเผาเกิดในจุดที่อยู่ลึกเข้าไม่ถึง เป็นต้น

            อีกทั้งที่ประชุมยังได้พูดถึงทรัพยากรในการแก้ปัญหาหมอกควันโดยเฉพาะไฟป่า ทั้งในส่วนของกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ โดยที่กำลังคนจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี มีความรู้ความเข้าใจในการเข้าดับไฟป่า ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ควรมีการสะสมเพื่อมีจำนวนเพียงพอใช้งานหรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายที่ควรจะมีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ใช้ และที่ประชุมยังได้พูดถึงประเด็นการประกาศเขตภัยพิบัติ ตลอดจนการนำปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือเข้าสู่การแก้ปัญหาระดับอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งภายหลังการประชุมมหาวิทยาลัยได้มีการมอบหน้ากากอนามัย N95 ที่ได้รับมอบมาเพื่อส่งต่อให้ผู้ปฏิบัติงาน




  • 1208 ครั้ง