ฌอน บูรณะหิรัญ ขวัญใจวัยรุ่นที่มีคนตามเพจกว่า 1.4 ล้านคน แนะน้องใหม่ก้าวข้ามความกลัวการเรียนภาษาอังกฤษ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 คุณฌอน บูรณะหิรัญ นักสร้างแรงบันดาลใจ นักคิดนักปรัชญาในสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีผู้ติดตามเพจกว่า 1.4 ล้านคน เดินทางมาร่วมพูดคุยกับนักศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จำนวนกว่า 4,000 คน ในกิจกรรม “เป้าหมายและเส้นทางชีวิต” ส่วนหนึ่งของ How to live and learn on campus 2017 จัดงานโดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ

คุณณอน เปิดใจกับน้องๆ ถึงการก้าวข้ามความกลัวไว้ได้อย่างน่าสนใจด้วยการนำเอาประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของตนเองมาแบ่งปันกับน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชกต่อยตั้งแต่วัยเด็กจนต้องเข้าสถานพินิจเยาวชน ครอบครัวที่ยากลำบากกับการสร้างเนื้อสร้างตัว การเรียนที่เรียกว่ามีจุดเปลี่ยน การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันในการใช้ชีวิตสุดๆ สิ่งเหล่านี้คุณฌอนก้าวข้ามมาได้อย่างไร แล้วน้องใหม่ที่ก้าวข้ามการเรียนจากรูปแบบมัธยมศึกษามาเรียนแบบอุดมศึกษา ยิ่งเป็นการเรียนภาษาอังกฤษล้วนๆ ด้วยจะเป็นอย่างไร ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักผู้ชายคนนี้กันก่อน 

  • คุณณอนเป็นคนไทยที่เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา ชีวิตครอบครัวไม่ได้สวยหรูหรือร่ำรวยอย่างที่ใครหลายๆ คนคิดว่าไปอยู่ต่างประเทศจะต้องรวย คุณพ่อทำงาน 2 ที่ มีเวลานอนเพียงแค่วันละ 3 ชั่วโมง คุณแม่ทำงานที่ร้านอาหาร
  • เมืองที่อยู่คือ เวสต์โควีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นถิ่นชาวแม็กซิกัน แอฟริกัน ไม่มีคนเอเชียอาศัยอยู่เลยทำให้ตัวคุณฌอนมักถูกเด็กในถิ่นนั้นรังแกอยู่เสมอ มีเรื่องชกต่อยเกือบทุกวัน รวมถึงการย้ายโรงเรียนบ่อยๆ อีกด้วย
  • ช่วงวัยรุ่นตอนต้นคุณฌอนตัดสินใจเรียนมวยไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อไว้ป้องกันตัวเอง และเป็นการสร้างเสน่ห์กับสาวๆ เรียนชกมวยจนเป็นที่ 1 ของโรงเรียนไปแข่งที่ไหนก็ได้รางวัล เคยชกต่อยกับเพื่อนที่เป็นนักดนตรีจนเค้าทึ่งในความสามารถขอสมัครเรียนมวยกับคุณฌอน และได้แลกเปลี่ยนความสามารถด้านดนตรีกันในเวลาต่อมา
  • อายุ 16 มีเรื่องชกต่อยจนต้องเข้าสถานพินิจเยาวชน 1 สัปดาห์ ต้องถูกติดเครื่องติดตามไม่ให้ออกนอกบริเวณเป็นเวลากว่า 1 เดือน รวมถึงต้องทำสาธารณะประโยชน์กว่า 1,000 ชั่วโมง ในตอนอยู่สถานพินิจเยาวชนคุณฌอนบอกว่า “เหมือนเราเป็นสัตว์” ที่ต้องมีคนควบคุมและติดตามไปทุกที่ รู้สึกโกธร คลุ้มคลั่ง แต่สุดท้ายก็คอยบอกตัวเองว่า “เราทำให้พายุสงบไม่ได้ แต่ทำให้ตัวเองสงบลงได้” “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป (This Too Shall Pass)” ซึ่งคำๆ นี้คุณฌอนได้นำมาเป็นหลักในการใช้ชีวิตจนถึงวันนี้
  • การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทั้งด้านปรัชญาและจิตวิทยา ที่ตอนแรกคุณฌอนมีความสนใจอยู่พอสมควรแต่เมื่อไปเรียนแล้วพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนเองค้นหาจึงก้าวออกมาเพื่อค้นหาสิ่งที่ใช่ในชีวิตแบบอื่นๆ
  • เมื่ออายุ 23 ได้กลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย เริ่มเรียนภาษาไทยมาถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปี ใครหลายคนที่เคยฟังคลิปวิดีโอของคุณฌอนคงจะทราบดีว่าเค้าพูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำขนาดไหน เคล็ดลับในการเรียนภาษาไทยของคุณฌอนคือ “การลบทุกสิ่งที่เป็นภาษาอังกฤษออกให้หมดจากชีวิต” ทั้งเพลงในเครื่องเล่น การพูดคุยในชีวิตประจำวัน แม้แต่หนังสือที่อ่าน หากเพื่อนคนไหนพูดภาษาอังกฤษกับคุณฌอนจะหักดิบด้วยการเลิกคบเพื่อนคนนั้นเลย

จากประเด็นสำคัญข้างต้น จะเห็นว่าชีวิตคุณฌอนผ่านอะไรมามากมายก้าวข้ามเรื่องสำคัญในชีวิตหลายเรื่อง กับคำถามของน้องๆ มฟล. ที่ว่า จะทำยังไงไม่ให้กลัวการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ? คุณฌอนตอบว่า “ก่อนอื่นต้องถามกลับว่าความกลัวเกิดจากอะไร สำหรับผมความกลัวเกิดจากความไม่รู้เราจึงกลัว เมื่อผมคิดได้แบบนั้นผมจะเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่ผมกลัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเมื่อผมรู้แล้วผมก็จะไม่กลัวหรือเหลือความกลัวอยู่น้อยที่สุด การเรียนภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน เรากลัวที่จะเรียน กลัวที่จะพูด ตอนผมเรียนภาษาไทยผมก็โหดกับตัวเองมากนะครับ ไม่อ่านไม่ฟังภาษาอังกฤษเลย สิ่งสำคัญคือคนรอบตัว ใกล้ตัวเราที่จะให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือ"

อีกหนึ่งคำถามคือ จะค้นหาตัวเองได้ยังไง? คุณฌอนตอบว่า “มีกฎ 5 วินาทีอยู่ คือเราต้องลงมือทำสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำหรืออยากทำเลยภายใน 5 วินาที เพราะหากเกินกว่านี้สมองของเราจะพยายามหาเหตุผลต่างๆ นาๆ ให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำ เพราะสมองยังคงจดจำสัญชาตญาณของการประหยัดพลังงานเพื่อความอยู่รอดอยู่ เมื่อเรามีความสนใจอะไรหลายอย่างได้ลงมือทำหลายอย่าง เราก็จะค้นพบตัวเองว่าอะไรที่เราต้องการ การได้ลงมือทำเหมือนการเข้าไปในเขาวงกต ที่เราจะได้เรียนรู้และค้นหาทางออก หากเรามัวแต่มองแล้วเอาแต่คิดว่าจะต้องเดินไปทางนั้นต่อด้วยทางนี้โดยไม่ลงไปในเขาวงกตสักทีเราก็จะไม่ค้นพบทางออกอย่างแน่นอน และชีวิตของเราไม่ได้ค้นพบได้เพียงใน 1 -2 วันหรือเดือน แต่จะเป็นการสะสมความคิด ประสบการณ์ของเราจนออกมาเป็นเราในที่สุด นี่คือการค้นหาตัวเองของผม คือลงมือทำ

การเอาชนะความกลัวของคุณฌอนคือการได้ศึกษา หาข้อมูล เกี่ยวกับสิ่งที่กลัวให้มากที่สุด แล้วลงมือทดลองกับสิ่งเหล่านั้น เช่นความกลัวที่ถูกรังแกจากเด็กแถวบ้าน ได้ลงมือเรียนศิลปะการต่อสู้ ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ก่อให้เกิดการอ่านอย่างหนัก จนกลายมาเป็นนักคิด นักปรัชญาที่มีผู้ติดตามเพจจำนวนมาก นอกจากนี้คุณฌอนยังได้กล่าวไว้ว่า “มีความพูดว่าความกลัวเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เราได้ตระหนักและระวังมากขึ้น เช่น หากมีเสืออยู่ในห้องคนที่ไม่กลัวอะไรก็จะเป็นคนที่ตายก่อน” ดังนั้นน้องๆ มฟล. ที่กำลังกลัวการเรียน Intensive English and Upper Intensive Englishที่กำลังจะถึงนี้ ก็ขอให้เปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าที่จะเรียนรู้ หากไม่เข้าใจก็กล้าที่จะถามอาจารย์ และขอให้ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อนให้ก้าวข้ามการเรียนนี้ไปด้วยกันนะคะ

  • 3977 ครั้ง