มฟล. จัดสัมมนา Thai – Japan Alliance for Tea Industry พร้อมเป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมชาไทย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์

     มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย สถาบันชา ศูนย์ความเป็นเลิศทางธุรกิจและโลจิสติกส์ (BE-Logist) และ สำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (OBELS) สำนักวิชาการจัดการ ร่วมจัดงานสัมมนา Thai – Japan Alliance for Tea Industryไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี กล่าวต้อนรับ นายศักดิ์ชาย วงศ์กนิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้ประกอบการชาประเทศไทย ผู้ประกอบการชาญี่ปุ่น เกษตรกรผู้ปลูกชา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่สนใจในธุรกิจเกี่ยวกับชาและผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจชา ร่วมงานเพื่อนำเสนอชาไทยและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสนับสุนนธุรกิจชาไทยรวมถึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการชาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการผลิตชาครบวงจร ที่อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
     อธิการบดี มฟล. กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงานทั้งจากไทยและญี่ปุ่น ที่มีความตั้งใจช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมชาในเมืองไทย และเนื่องจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ปลูกชามากที่สุดในประเทศไทย จึงสนใจที่ส่งเสริมพัฒนาให้ชาไทยเป็นชาที่มีคุณภาพและนำไปสู่การดำเนินการทางธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป การได้ร่วมฟังบรรยาย-แลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการชาจากญี่ปุ่น ที่พัฒนาอุตสาหกรรมชามาเป็นเวลานาน จึงนับเป็นโอกาสดี ทั้งการได้รับรับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการผลิตหรือการดำเนินการเกี่ยวกับชาแล้ว ยังหวังที่จะได้รับความร่วมมือ ความช่วยเหลือ จากญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ในการช่วยพัฒนาชาไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
     “มฟล. พร้อมเป็นผู้สนับสนุน - ร่วมมือกับเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านชาในประเทศไทย ที่จะทำให้กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชา ดำเนินไปด้วยความมั่นคง ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ วันนี้ มฟล.ขอประกาศว่าเราะจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชาไทยต่อไปในอนาคต เนื่องจากเรามีสถาบันชา สถาบันที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับชา ที่คอยกำกับดูแล การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกี่ยวกับชา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงจากญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดต่อไป”
     นอกจากนี้ในงานสัมมนายังได้พูดคุยถึงประเด็นที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาคเกษตรและอาหารให้ความสำคัญในการวิจัยเพื่อพัฒนามากขึ้น โดยลงทุนไปมากถึง 12,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นที่เคยลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์หรือปิโตรเคมี เนื่องจากเป็นกระแสของโลกและเป็นการเคลื่อนตัวของการผลิตเพื่อเป็นอาหารธรรมดาไปสู่อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะ อย่างการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งรวมถึงชาด้วย ที่มีทิศทางการพัฒนาจากเครื่องดื่มทั่วไปไปสู่เครื่องดื่มที่มีประโยชน์เฉพาะหรืออาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงขึ้น โดยต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นหาหรือพิสูจน์คุณภาพหรือคุณลักษณะที่มีผลต่อสุขภาพจริงจึงมีผลให้การลงทุนในส่วนนี้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
     ทั้งนี้ในงานสัมมนายังได้พูดถึงทิศทางการพัฒนาชาเชียงรายหรือชาไทยว่า ประเด็นเรื่องของสารสกัดหรือการทดสอบการทดลองเพื่อค้นหาหรือยืนยันคุณภาพคุณลักษณะของชาไทยน่าจะเป็นก้าวต่อไปของเชียงราย และชายังเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อน Food Innopolis หรือ เมืองนวตกรรมอาหาร โดยการพัฒนาต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านการเกษตรในช่วงของการเก็บเกี่ยวหรือด้านอุตสาหกรรมเมื่อพูดถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการวิจัยพัฒนาที่ต้องอาศัยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาซึ่งอยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้การผลิตยังไม่ได้ทำเพื่อในประเทศเพียงเท่านั้นแต่เพื่อส่งออกไปยังนานาประเทศด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีพันธมิตร ที่จะมาช่วยเป็นเสียงสะท้อนหรือทำงานร่วมกัน

  • 1110 ครั้ง