วันนี้(7ต.ค.) เวลาประมาณ 09.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 ในหัวข้อ ‘ต้นกล้านวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ หรือ Seedling Innovation for Sustainable Development ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จังหวัดเชียงราย มี รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และรศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยได้มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ ที่ห้องประชุมสมเด็จย่า ท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 1,200 คน
ในการนี้พระราชทานโล่ที่ระลึกแก่ ศาสตราจารย์ ดร. โรเบิร์ต กรับส์ (Professor Robert H. Grubbs) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2005 จาก California Institue of Technology in Pasadena, California ประเทศสหรัฐอเมริการ และพระราชทานโล่รางวัล นักวิทยาศาสตร์อาวุโส นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักเทคโนโลยีดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 และนักเรียนชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ตลอดจนผู้สนับสนุนกาประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 45
จากนั้นทรงฟังบรรยายจากศาสตราจารย์ ดร. โรเบิร์ต กรับส์ เรื่อง การออกแบบและการประยุกต์ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาโอเลฟินเมทาเทซิสแบบคัดเลือก (Design and Applications of Selective Olefin Metathesis Catalysts) และ ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2562 บรรยายพิเศษเรื่องเทคโนโลยีการจัดการเก็บพลังงานจากเคมีไฟฟ้า (ELECTROCHEMICAL ENERGY STORGE TECHNOLOGIES : NOW AND FUTURE)
ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคารวันชัย ศิริชนะ หรืออาคารสำนักงานอธิการบดี เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการและโครงงานวิทยาศาสตร์ รวมถึงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการบริหารของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและคณะกรรมการดำเนินงานจัดการประชุมและสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยก่อนเสด็จฯประทับเพื่อเสวยพระกระยาหาร ที่ห้องเชียงแสน อาคารวันชัย ศิริชนะ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ในการนี้ที่อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดนิทรรศการผลงานวิชาการใน 2 หัวข้อ ได้แก่ Waste to wealth และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยได้หัวข้อ Waste to wealth ที่ดำเนินการเพื่อการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีผลในการลดขยะจากชุมชน ลดขยะจากการผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้วัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ โดยนิทรรศการได้อธิการถึงขยะจากชุมชน ที่หากประเทศไทยสามารถจัดการขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดปีละ 27 ล้านตัน โดยมีมีการจัดการขยะที่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับกรณีศึกษาของอปท.ทั้ง 9 แห่ง จะช่วยลดต้นทุนลงได้ถึงปีละ 29,430 ล้านบาท และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินจากการฝังกลบขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเกิดโลกร้อน
และได้อธิบายถึงขยะจากผลิตผลทางการเกษตร (Agricultural waste) โดยมีผลงานวิชาการของคณาจารย์จำนวนกว่า 15 ผลงาน อาทิ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อชุมชนชีววิถี วัสดุฉนวนจากแก้วรีไซเคิล บล็อกแกร่งจากเศษแก้ว น้ำสลัดจากเมล็ดเสาวรส การสกัดน้ำมันจากเมล็ดเสาวรสและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจากน้ำมันเมล็ดเสาวรส การเพิ่มมูลค่าเปลือกสับปะรดภูแลและนางแล การพัฒนาเส้นขนมจีนจากแป้งกล้วยทดแทนผสมสารสกัดจากพืช สมบัติบางประการและการใช้ประโยชน์เชิงหน้าที่ของแป้งและสาร์ชกลัวหอเขียวพันธุ์คาเวนดิช การเตรียมเยื่อเซลลูโลสจากก้านเครือกล้วยหอมเขียวเพื่อการผลิตถาดเยื่อขึ้นรูป อิทธิพลของเชื้อเพลงปรับสภาพในเชื้อเพลิงมวลอัดแท่งจากลำต้นและใบข้าวโพด ผลิตภัณฑ์กันแดดจากสารสกัดเปลือกกาแฟ ผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงจากสารสกัดเปลือกกาแฟ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์คงรูปจากเยื่อชานอ้อยโดยการเสิรมแรงด้วยเส้นใยนาโนโซลลูโลส การพัฒนาวัสดุเชิงประกอบชีวมวลเพื่อประดิษฐ์กล่องอนุบาลนางพญาผึ้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากวัสดุชีวมวล
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่อธิบายถึง ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีการจัดตั้งในปี พ.ศ. 2555 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เควิน เดวิด ไฮด์ เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการทำวิจัยทางด้านเชื้อราได้แก่ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อเห็ดรา การควบคุมเชื้อราสำคัญที่ก่อโรคพืช และการใช้ประโยชน์จากเชื้อเห็ดรา ตลอดจนการศึกษาหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อเห็ดรา เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ การเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์ และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายด้านข้อมูลของสายพันธุ์เชื้อเห็ดรา ความหลากหลาย ตลอดจนการเก็บสายพันธุ์ของเชื้อเห็ดรา เพื่อจัดเป็นคลังจุลินทรีย์ทางด้านเชื้อเห็ดราในระดับภูมิภาคเอเชีย