มฟล.จัดประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าและหมอกควันในประเทศและในภูมิภาคครั้งที่ 1/2562

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

             เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าและหมอกควันในประเทศและในภูมิภาคครั้งที่ 1/2562 โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้ง เป็นประธาน พร้อมทั้ง รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี และผู้บริหาร คณาจารย์ เข้าประชุมร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องจากจังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชียงราย สาธารณสุขจังหวัด กองทัพภาคที่ 3 เป็นต้น

             ทั้งนี้ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประทศและภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ สู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน

             โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541 จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประทศและภูมิภาค โดยมีหน้าที่ในการดำเนินการระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในประทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งเสนอแนะการดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่มีการประสานงานและสอดรับกับการดำเนินการกับทุกฝ่าย

             ที่ประชุมยังได้สอบถามถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาไฟป่าและหมอกควันของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือสาธารณสุขจังหวัด ลักษณะเมื่อเกิดไฟป่าและหมอกควัน แต่ละหน่วยงานตอบโต้ต่อสถานการณ์อย่างไร อย่างเส้นทางการแจ้งเหตุไฟป่าและแนวทางปฏิบัติการดับไฟป่าหรือการแจ้งเตือนด้วยธงสัญลักษณ์จากโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น โดยอธิการบดีผู้ก่อตั้ง ให้ข้อสังเกตว่าการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันควรจะมีแนวทางในการจัดการปัญหาแบบระยะยาว เพื่อไม่ต้องประชุมวางแผนกันทีละปี เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ปัจจุบันเกิดขึ้นในหลายประเทศมีความรุนแรงและยังไม่สามารถจัดการยุติได้ง่ายๆ โดยแผนระยะยาวที่ว่าควรออกแบบจากท้องถิ่น จากผู้ได้รับผลกระทบ จึงจะยั่งยืน และในฐานะมหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถช่วยประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการเพื่อประโยชน์ของประชาชนและเป็นไปตามเป้าหมายของทุกภาคส่วน

            นอกจากนี้ รศ.ดร.ชยาพร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยยังได้สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างอาชีพปลอดการเผาและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยลดเชื้อเพลิงสะสม ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุ อย่างการทำเชื้งเพลิงอัดแท่งชีวมวลจากลำต้นและใบข้าวโพดหรือการทำกล่องอนุบาลนางพญาผึ้งหรือชุดโต๊ะเก้าอี้จากเศษฟางข้าวและแกลบ โดยมหาวิทยาลัยสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับผู้สนใจ
    
    

  • 819 ครั้ง