มฟล. เสนอ 8 ข้อ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อ กมธ.ปภ. สภาผู้แทนราษฎร

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

.
รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อมคณะผู้บริหาร ต้อนรับ นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย (กมธ.ปภ.) สภาผู้แทนราษฎร ที่ห้องประชุมดอยตุง อาคารวันชัย ศิริชนะ ในโอกาสเดินทางมาพร้อมคณะ ศึกษาดูงานและตรวจสภาพพื้นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย พร้อมเดินทางมาศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการและแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมคณะและนำเสนอข้อมูล
.
ในโอกาสนี้ มฟล. ได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (ระยะเผชิญเหตุ) จำนวน 8 ข้อ ในการบริหารจัดการการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อ กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร  ดังนี้

  1. ปรับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
  2. กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางอากาศ
  3. กำหนดมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในระยะเวลาระยะสั้นและรวดเร็ว
  4. การแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติทางอากาศผ่านทางข้อความทางโทรศัพท์มือถือถึงระดับอันตรายและข้อควรปฏิบัติตน
  5. มาตรการควบคุมราคาและคุณภาพของอุปกรณ์ป้องกันภัยจากมลพิษทางอากาศ
  6. มีจุดรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็นกระจายอย่างทั่วถึงและสามารถส่งมอบสิ่งของบริจาคให้กับพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว
  7. แก้ไขข้อจำกัดในการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของท้องถิ่น
  8. จัดทำสวัสดิการและทำประกันภัย/ประกันชีวิตให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงที่ไม่ได้มีสวัสดิการหรือความคุ้มครองใดๆ  

.
ทั้งนี้อธิการบดีได้กล่าวต้อนรับพร้อมได้รายงานต่อกมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ถึงแนวทางการรับมือฝุ่น PM 2.5 ของมหาวิทยาลัยและการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรับมือปัญหาฝุ่นพิษในปีที่ผ่านมา อาทิ การวัดและการรายงานคุณภาพอากาศ การวัดและรายงานคุณภาพอากาศ การประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติตน การเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การจัดทำพื้นที่ปลอดภัย Clean Room การประกาศงดกิจกรรม เป็นต้น ทั้งยังได้จัดการประชุม MFU Voice for Clean Air ที่เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้าร่วมเพื่อหาแนวทางการรับมือและการแก้ไข
.
นอกจากนี้ มฟล. ยังมีโครงการวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน การเรียนรู้และตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศ โดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และยังได้รายงานคุณภาพอากาศให้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้รับทราบเพื่อป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม หรือการเข้าร่วมกับโครงการยักษ์ขาววัดฝุ่น yakkaw.com ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองสู่สาธารณะ ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นในโรงเรียน และรายงานผลออนไลน์ พร้อมฝึกอบรมการปฏิบัติตัว โดยอาจารย์วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล.เป็นผู้ประสานงานฝ่าย มฟล. ทั้งยังได้พัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อรับข้อมูลการรายงานสถานการณ์ฝุ่นฯ สำหรับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการทั้ง Android และ iOS ตลอดจนได้จัดโครงการบูรณาการเชิงพื้นที่และผู้นำเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม (FLY Volunteers) โดยนางพัทธยาพร อุ่นโรจน์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สร้างผู้นำเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม 11 โรงเรียน จำนวน 1,207 คน 

นอกจากนี้ มฟล. โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Artificial Intelligence & Emerging Technologies (AIE) สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกองทัพอากาศ และ ภาคีเครือข่าย นำอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV พร้อมอุปกรณ์เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 จากไฟป่า โดยได้มีการทดสอบภารกิจการบินและถ่ายภาพทางอากาศในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า ไปเมื่อเร็วๆนี้ ที่บริเวณฝูงบิน 416 อ.เมือง จ.เชียงราย โดยจะนำภาพถ่ายของพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างแผนที่อันจะเป็นข้อมูลสำคัญในภารกิจดับไฟป่าในระยะถัดไป พร้อมทั้ง วิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของพื้นที่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงสะสมที่เป็นตัวแปรต่อความรุนแรงของไฟ ผลการปฏิบัติจะนำสู่การวางแผนการใช้ระบบ UAV ในภารกิจสำรวจและดับไฟป่าได้ต่อไป โดยในช่วงท้ายของกิจกรรมอธิการบดียังได้รับมอบหน้ากากอนามัยจากคณะผู้มาเยือน
.

  • 1619 ครั้ง