มฟล.ออกหน่วยแพทย์อาสาบรมราชกุมารี บริการด้านสุขภาพประชาชนพื้นที่ห่างไกล

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ออกหน่วยแพทย์ ในโครงการแพทย์อาสาบรมราชกุมารี ที่บ้านไร่ส้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต หัวหน้าโครงการฯ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ดร.อมรรัตน์ อนุวัฒน์นนทเขตต์ อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม หลังจากได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องตลอดปี 2562 เป็นจำนวน 4 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือตอนบน อาทิ อำเภอเวียงเชียงรุ้งหรือบ้านลิไข่ ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย เป็นต้น มีประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน

.

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นตามที่โครงการแพทย์อาสาบรมราชกุมารี ซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อรองรับภารกิจในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือตอนบน ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการผลิตบัณฑิตทางวิชาชีพด้านสุขภาพทั้ง แพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทย พยาบาล กายภาพบำบัด สาธารณสุขศาสตร์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งวิชาชีพเหล่านี้ต้องให้บริการด้านวิชาการและสุขภาพแก่ประชาชนผู้เจ็บป่วย หรือมีการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ประชาชนในชุมชนทุกกลุ่ม ทุกวัยเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง

.


ซึ่งการออกหน่วยแพทย์อาสาให้บริการเคลื่อนที่แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้ช่วยให้ประชาชนที่มีความป่วยในถิ่นทุรกันดารสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ และยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของบุคลากร และนักศึกษาสาขาวิชาชีพสุขภาพต่างๆ ดังกล่าวให้ได้ปฏิบัติงานจากสถานการณ์จริง ดังนั้นหน่วยแพทย์อาสาบรมราชกุมารี จึงได้จัดทำโครงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ขึ้นเพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคมและประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารในจังหวัดเชียงรายหรือจังหวัดในภาคเหนือตอนบน

.

นพ.สมปรารถน์ เปิดเผยว่า การออกหน่วยแพทย์ที่ผ่านมาเน้นกลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและด้อยโอกาส ดำเนินการทั้งในรูปแบบการออกหน่วยแพทย์ทั้งเยี่ยมบ้าน เพื่อบริการประชาชนและถือโอกาสได้พานักศึกษาและบุคลากรได้ทำงานใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับงานบริการวิชาการที่เป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่แต่ละสำนักวิชาต้องทำอยู่แล้ว อีกส่วนคือเชื่อมกับการเรียนการสอน อย่างในสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์มีบางรายวิชาที่ต้องดูแลผู้ป่วยในชุมชน และการได้ลงพื้นที่ยังช่วยทำให้นักศึกษาและบุคลากรได้เรียนรู้อีกรูปแบบที่สำคัญ

.

“ถ้าเป็นวิชาก็เรียกว่าวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ต้องมองเห็นในภาพที่เป็นจริงของคนไข้ เรื่องขององค์รวมคือถ้าเราอยู่แต่ในโรงพยาบาล เราจะเห็นเฉพาะต่อหน้าที่มาโรงพยาบาล แต่ถ้าเยี่ยมบ้านเราจะเป็นสภาพบ้าน ความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับญาติที่ดูแล เห็นทุกข์ของญาติที่ต้องดูแล หรือถ้าในรูปแบบออกหน่วยนักศึกษาจะได้เห็นได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานสายสุขภาพแบบสหวิชาชีพ มีทั้งแพทย์ พยาบาล สำนักวิชาแพทย์บูรณาการ ทั้งแพทย์แผนไทยแผนจีน ได้เห็นภาพจริงว่าเมื่อเรียนจบไปแล้วแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในสนามจริง”

.

การดำเนินกิจกรรมตามโครงการแพทย์อาสาบรมราชกุมารีอย่างต่อเนื่อง นอกจากมีโอกาสได้บริการประชาชนแล้ว ยังได้เข้าใจเข้าถึงสภาพปัญหาหรือข้อจำกัดในการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการให้บริการด้านสุขภาพต่อไป 
    

  • 1369 ครั้ง