มฟล.จัดนิทรรศการตามรอยพระราชดำริ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น ข่าวประชาสัมพันธ์

ตามที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 17 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ในการนี้ภายหลังจากพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และได้ทอดพระเนตรนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ในหัวข้อ ‘นิทรรศการตามรอยพระราชดำริ’ โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้บริหาร คณาจารย์ ถวายรายงาน

.

นิทรรศการได้อธิบายถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินงานด้านบริการวิชาการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จวบจนปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งสำนักวิชา ศูนย์ และหน่วยงานสนับสนุน เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชนในด้านต่างๆ เกิดการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งและให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตามรวมพระราชดำริของพระองค์ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอาชีพ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 140 ล้านบาท เป็นงบแผ่นดินและการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก โดยพื้นที่บริการวิชาการสู่ชุมชนนั้น ได้แก่ ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 อีก 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ และน่าน 

.

ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ โดยได้ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุและเทศบาลตำบลท่าสุด จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผู้สูงอายุต้นแบบด้านสุขภาพขึ้น ผ่านกิจกรรมที่มีคณาจารย์และนักศึกษาจากสำนักวิชาต่างๆ หมุนเวียนเข้าไปร่วมกับผู้สูงอายุตามความสนใจของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีผลให้ผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้จากการมีอาชีพเสริมมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และยังนำความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่นได้

.

ด้านการสาธารณสุข เป็นโครงการวิจัยดำเนินการในอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอที่มีกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย จากการศึกษาพบสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการดูแลสุขภาพส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิตใจอันเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ‘การกิน ไม่เป็น’ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินกิจกรรมออกหน่วยให้บริการตรวจสุขพาพเพื่อประเมินสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต โดยแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทยประยุกต์ นักสุขภาพจิต และนักสาธารณสุข ทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหาและจัดกริจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เน้นความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยเฉพาะด้านโภชนาการ จัดกิจกรรมผู้สูงอายุให้ ‘กินเป็น อยู่เป็น’ มีการประกวดอาหารชนเผ่าสุขภาพดีและพัฒนาเป็นตำรับอาหารสุขภาพชนเผ่า

.

ด้านสิ่งแวดล้อม จากปัญหาหมอกควันขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะเขตภาคเหนือตอนบนและในเขตภูมิภาคใกล้เคียงเนื่องจากไฟป่า มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาเกิด ไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและใน๓มิภาคขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ศึกษาแนวทางในการลดการเผาป่าในภาคเหนือตอนบน อำนวยการปละสนับสนุนการปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ และระยะฟื้นฟู โดยในปีที่ผ่านมาได้ให้ความรู้เยาวชนและฝึกอบรมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียน 11 แห่ง ให้สามารถเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 1,207 คน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไว้ในชุมชนและสถานศึกษาเพื่อสร้างการับรู้ถึงสภาพปัญหา พร้อมผลิตสื่อแนวทางการป้องกันตัวด้วยภาษาถิ่นให้กับชุมชน ตลอดจนประสานกับทางกองทัพอากาศในการนำอากาศยาไร้คนขับมาปฏิบัติการประเมินสถานการณ์ไฟป่าในช่วงเผชิญเหตุที่จะถึงนี้ โดยระยะยาวได้ประยุกต์โมเดล 4 ประสานการพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อปรับรูปแบบการประกอบอาชีพตามแนวทางเกษตรอินทรีย์

.

ด้านอาชีพ หมู่บ้านห้วยหินลาดในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า แต่มีการจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ของชุมชนด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีการแบ่งปันเพื่อคนทุกคนด้วยการทำแนวกันไฟ การร้างระบบการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยั่งยืน การรักษาป่าต้นน้ำจากภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ปะกาเกอะญอ  มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมทำงานกับชุมชนในการสร้างอาชีพสร้างรังผึ้งที่มีความหมายจากบทกวี และนิทาน เรื่องการรักษาป่าต้นน้ำเพื่อใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ พัฒนาอาหารจากฐานภูมิปัญญาที่ทำจากน้ำผึ้งและส่วนประกอบจากผลผลิตท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการผลิตลิปบาล์มจากน้ำผึ้งและไขผึ้ง เป็นสินค้าชุมชนช่วยกองทุนรักษาป่าเพิ่มรายได้เพื่อใช้ทำกิจกรรมในวงกว้างมากขึ้น พร้อมถวายลิปบาล์มจากน้ำผึ้ง

  • 2295 ครั้ง