มฟล.ประยุกต์เครื่องมือสื่อการสอนตรวจวัดประสิทธิภาพการกรองหน้ากากผ้า DIY

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น ข่าวประชาสัมพันธ์

สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดต่างๆ ของผ้าที่มีการแนะนำให้ใช้ในการทำหน้ากาก DIY เช่น ผ้าฝ้าย ผ้ามิสลิน ผ้าสาลู ผลปรากฎว่าสามารถช่วยกรองอนุภาคได้ถึง 78%

อาจารย์สิตางค์ คงกระโทก อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กล่าวว่า สาขาวิชาได้ทำการประเมินประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากากผ้า DIY หรือหน้ากากที่ผลิตกันเองด้วยวัสดุผ้า ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งชาวเชียงรายไม่ได้เจอแค่ปัญหา COVID-19 เท่านั้น เราประสบกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเรื้อรังมานานแล้วอีกด้วย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยในท้องตลาดเป็นอย่างมาก จึงเกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาเพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องการผลิตหน้ากากที่ทำจากผ้าใช้เองอย่างกว้างขวาง แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการนำหน้ากากผ้าที่ผลิตด้วยเนื้อผ้าต่างๆ มาทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค PM2.5 อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มฟล. ได้พัฒนาวิธีการทดสอบคุณภาพหรือประสิทธิภาพในการกรอง โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือ Particle Counter ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน และใช้วัดคุณภาพอากาศภายในห้องผ่าตัด โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อทดสอบความสามารถในการกรองของหน้ากาก DIY

ตัวอย่างผลที่ได้จากการทดลองนำผ้าฝ้าย ผ้าสาลู และผ้ามัสลินมาทำหน้ากากผ้า พบว่าสามารถกรองอนุภาคขนาด 3 ไมครอน (ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับ PM2.5) ได้ถึง 78% นั่นหมายความว่า หากในบรรยากาศมีฝุ่นขนาด 3 ไมครอน จำนวน 100 อนุภาค หน้ากากนี้จะสามารถกรองฝุ่นได้ 78 อนุภาค

ทั้งนี้ประสิทธิภาพของการกรองอนุภาคของหน้ากากผ้า DIY อาจลดลงได้จากการสวมใส่หน้ากากที่ไม่กระชับกับใบหน้า การจัดเก็บหน้ากากที่ไม่ดี และเมื่อมีการซัก-ใช้งานซ้ำๆ ทั้งนี้สาขาวิชาฯ จะทำการศึกษาทดลองต่ออีก 2 ประเด็น คือ 

1. ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากากผ้า หลังจากมีการซักทำความสะอาดและใช้ซ้ำ

2. การทดสอบความกระชับของหน้ากาก DIY ในรูปแบบต่างๆ

“สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หวังว่าข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการใช้หน้ากากผ้า DIY ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ PM2.5  อีกหนึ่งทีมงานที่จะขาดไม่ได้ คือ ทีมงานจิตอาสาจากกลุ่ม DIY หน้ากากอนามัย ป้องกัน PM 2.5 เชียงราย ที่ให้ความร่วมมือและช่วยสนับสนุนการจัดทำหน้ากากผ้า DIY เพื่อการทดสอบ” อาจารย์สิตางค์ กล่าวปิดท้าย

  • 3362 ครั้ง
  • #สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ