มฟล.มอบอุปกรณ์สู้ไฟป่า

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น


เมื่อวันที่ 09 เมษายน 2563 รศ.ดร.ชยาพร  วัฒนศิริ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อม ดร.ปเนต มโมมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดี มอบอุปกรณ์ในโครงการระบบสนับสนุนและติดตามการใช้งานอุปกรณ์สู้ไฟป่าสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการ โดยศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาค มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แหล่งทุนจากกองทุนเมืองไทยไร้หมอกควัน ซึ่งได้รับริจาคสมทบจากการจัดงานวิ่ง Toyota Live Alive Run ของโตโยต้า เชียงราย โดยมีผู้แทนหน่วยงานและหมู่บ้านมารับมอบ อาทิ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลท่าสุด / รองปลัด อบต.ป่าตึง / หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ยางมิ้น อำเภอแม่สรวย / เลขาธิการ มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
.
ทั้งหมดเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการสู้ไฟป่า ประกอบด้วย เครื่องเป่าลมจำนวน 20 เครื่อง ถังน้ำสะพายหลัง 50 ถัง ครอบและไม้ตบไฟอย่างละ 50 อัน พร้อมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลให้กับอาสาสมัครจำนวน 200 คน เพิ่มศักยภาพและความปลอดภัยให้กับอาสาสมัครสู้ไฟป่าประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นด่านหน้าในการเผชิญเพลิงในพื้นที่เสี่ยง แต่ขาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมไฟป่าและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความสูญเสียระหว่างการปฏิบัติงาน ทางโครงการจึงได้จัดหาอุปกรณ์ดับไฟให้ชุมชนยืม และสนับสนุนอุปกรณ์ส่วนบุคคลให้กับอาสาสมัครของหมู่บ้าน โดยในส่วนของอุปกรณ์ที่ให้ยืมนั้นจะมีการติดตามการใช้งานและบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อไป 
.
โดยได้มอบให้ 10 หมู่บ้าน ได้แก่ 1.บ้านป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน 2.บ้านป่ากุ่ม หมู่ที่ 8 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน  3.บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด หมู่ 3 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง  4.บ้านบ่อทอง หมู่ 5 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง  5.บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด หมู่ 10 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง 6.บ้านขุนลาว หมู่ 7 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า  7.บ้านแม่หาง หมู่ 7 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า 8.บ้านห้วยมะเกลี้ยง หมู่ 8 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า  9.บ้านแม่ยางมิ้น หมู่ 4 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย และ 10.บ้านพญากองดี หมู่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย ตามที่ได้คัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ พิจารณาผลการทำงานเชิงป้องกันตลอดทั้งปี ในการปรับรูปแบบการประกอบอาชีพและการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการปลูกสมุนไพร การทำวนเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ฯลฯ ตามโครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัย ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • 1471 ครั้ง