คณบดีนิติศาสตร์ มฟล. ให้สัมภาษณ์พิเศษ เนื่องในวันสำคัญของนักกฎหมายไทย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เนื่องในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันรพีฯ วันรำลึกถึง ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดกิจกรรมหลายประการเพื่อระลึกถึงเป็นประจำทุกปี และครั้งนี้ ผศ. ดร. รุ่ง ศรีสมวงษ์ คณบดี ได้ให้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ในโอกาสสำคัญของนักกฎหมายไทยในวันนี้ 
.
- ความท้าทายของนักกฎหมายไทยต่อสังคมไทยในช่วงเวลานี้? 
.
“สังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี”
ขณะนี้มีข่าวที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก คือ ข่าวการไม่ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยที่กระทำความผิด ที่สังคมตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมว่ายังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อวงการกฎหมายและนักกฎหมายเป็นอย่างมาก ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งก็ย่อมรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น เรื่องที่ท้าทายที่สุดในขณะนี้สำหรับนักกฎหมายไทย คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งในส่วนของรัฐบาลทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการควรต้องทำการสอบสวนเรื่องราวให้ชัดเจนว่าคดีนี้มีความบกพร่องในขั้นตอนใดหรือไม่ และจะแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไร
.
ในส่วนนักกฎหมายในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ก็สามารถมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้เช่นกัน ทั้งการทำงานโดยยึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้งและแสดงให้สังคมเห็นว่ากฎหมายไทยนั้นศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งของบุคคลผู้สุจริตได้ คนทำผิดไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเสมอหน้ากัน และอยากจะสื่อสารต่อสังคมว่าวงการนักกฎหมายก็เหมือนกับวงการอื่นๆ ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากคนไม่ดีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมีนักกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ประพฤติดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ขอให้สังคมอย่าเพิ่งหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของเราเลย
.
- ความท้าทายในการเรียนการสอนกฎหมายในปัจจุบัน? 
.
“พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงการเรียนการสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ด้วยที่จะต้องปรับมาเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งสำนักวิชานิติศาสตร์จะปรับไปใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” หรือ “Blended Education” ซึ่งจะผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และการเรียนในชั้นเรียน โดยการบรรยายจะใช้การเรียนออนไลน์ ส่วนการทำกิจกรรมหรือการทบทวนบทเรียนจะทำให้ชั้นเรียนที่จะดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดอย่างเคร่งครัด 
.
แม้การเรียนแบบผสมผสานจะมีข้อจำกัดจำนวนมาก แต่อาจารย์ยังมองเห็นข้อดีก็คือการเรียนแบบผสมผสานนี้ การบรรยายจะดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน อาจารย์ผู้สอนก็ออกแบบกิจกรรมที่น่าสนใจที่ให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้จากการบรรยายมาปรับใช้ เช่น การโต้วาที หรือการหยิบยกประเด็นในสังคมขึ้นมาให้นักศึกษาร่วมกันอภิปรายหาทางออก หรือการแสดงบทบาทสมมุติ (Role Play) เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะยังเป็นการฝึกฝนทักษะทางด้านอื่นให้กับนักศึกษาเพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการติดต่อสื่อสาร การนำเสนอผลงาน หรือการเจรจาต่อรอง เป็นต้น
.
นอกจากนี้ สถานการณ์การเรียนการสอนวิชากฎหมายในขณะนี้ที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์นั้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องทำ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ปรับมาใช้การเรียนออนไลน์แบบนี้ทั้งหมดเช่นกัน และมีจำนวนมากที่มีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและรับชมได้ ดังนั้น นักศึกษาสามารถใช้โอกาสนี้ในการแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่การฝึกภาษา การเปิดโลกทัศน์หรือมุมมองใหม่ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความรู้และทักษะที่เพิ่มขึ้นด้วย
.
- อาจารย์อยากจะฝากอะไรแก่นักศึกษา ในวันสำคัญของนักกฎหมาย?
.
“สร้างนักกฎหมาย MFU brand มีคุณภาพ รักษาคุณธรรม ได้รับความไว้วางใจเป็นสำคัญ”
อาจารย์อยากให้นักศึกษายึดถือพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นแบบอย่างทั้งในเรื่องการใช้ทำงานและการใช้ชีวิต พระองค์เจ้ารพีทรงได้รับการยกย่องทั้งในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อตรงต่อกฎหมาย และที่สำคัญคือการอุทิศตนรับใช้สังคม ดังพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า “My Life is Service” ที่หมายถึงว่าชีวิตของพระองค์ทรงอุทิศให้กับการทำงานรับใช้บ้านเมือง
.
ดังนั้น พวกเรานักกฎหมายที่เป็นผู้ใช้กฎหมายกับสังคมก็จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ใช้บังคับกฎหมายต่อคนทุกคนอย่างเป็นธรรมและเสมอหน้ากันไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน และอุทิศตนรับใช้สังคม รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและขาดโอกาสในสังคม เพิ่มนักกฎหมายที่ดีให้มากขึ้น ทำให้วงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามีความยุติธรรมและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนเป็นสำคัญ
 

  • 1380 ครั้ง