มฟล.เร่งอัพเกรด ผู้ประกอบการชา-กาแฟ ในพื้นที่เชียงราย อบรมภาษาอังกฤษหลักสูตร 30 ชั่วโมง

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์

มฟล.เร่งอัพเกรด ผู้ประกอบการชา-กาแฟ ในพื้นที่เชียงราย จัดอบรมภาษาอังกฤษ 30 ชั่วโมง ผู้ประกอบการร่วมกิจกรรมกว่า 30 ราย จากทุกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยอดดอยปางขอนหรือภูชี้ฟ้า

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยศูนย์บริการวิชาการร่วมกับสำนักวิชาศิลปศาสตร์ จึงได้จัดอบรมภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยววิถีชาและกาแฟ เป็นหลักสูตรเข้มข้น 30 ชั่วโมง ทุกเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 11 – 25 มีนาคม 2560 ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี อาจารย์พิมพ์ปวีณ์ ตรีสอน อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ รับผิดชอบโครงการ

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นตามที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายในหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการอบรมการท่องเที่ยววิถีชา กาแฟ แก่ชุมชนชาติพันธุ์ หรือการอบรมเพื่อการส่งเสริมการสร้างแบรนด์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งจากการสังเกตการณ์และสอบถามความต้องการของชุมชนพบว่าต้องการได้รับคำแนะนำหรือการอบรมการใช้ภาษาอังกฤษระดับพื้นฐานในการสื่อสาร

เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนเข้าใช้บริการที่พักร้านอาหารเครื่องดื่มที่ดำเนินการโดยชุมชน แต่ด้วยขาดทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนและการพัฒนาให้แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญของชุมชน

โดยมีผู้ประกอบจากแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่เชียงราย เข้าร่วมกว่า 30 ราย ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านดอยช้าง กลุ่มชุมชนหยุ่ยยือดอยช้าง หมู่บ้านแม่จันใต้ หมู่บ้านห้วยไคร้ หมู่บ้านปางขอน หมู่บ้านห้วยชมภู เป็นต้น

อาจารย์พิมพ์ปวีณ์ เปิดเผยว่า ทีมคณาจารย์จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ได้ลงพื้นที่สำรวจในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการสอน พบว่าการพูดสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันสำคัญมาก บางบ้านปลูกชากาแฟหรือทำร้านค้าร้านกาแฟแล้ว ยังทำโฮมสเตย์ด้วย มีความจำเป็นต้องสื่อสารกับแขกที่มาพักให้ได้ แต่ละแห่งมีจำนวนกว่าสิบหลังที่ทำโฮมสเตย์ และพบอีกว่ามีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาบ่อยทั้งในรูปแบบนักท่องเที่ยวและศึกษาดูงาน ที่ปกติจะต้องอาศัยคนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ซึ่งมีคนหรือสองคนในแต่ละหมู่บ้าน หากแต่ละบ้านสามารถสื่อสารได้ด้วยตัวเองก็มีมีความสะดวกมากกว่า

“ตั้งเป้าหมายสำหรับการอบรมไว้ให้สื่อสารได้ ไม่ได้เน้นไวยกรณ์มาก อาจจะเป็นคำหรือวลีสั้นๆ ง่ายๆ ที่สื่อกันได้ เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ ทั้งแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและทำให้การบริการในร้านค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วางแผนไว้จะอบรมทั้งหมด 30 ชั่วโมง ผู้เข้าอบรมครั้งนี้มีอายุตั้งแต่ 13 – 50 ปี ซึ่งมีคนตั้งคำถามว่า 30 ชั่วโมงจะพูดได้เลยไหม คำตอบคือเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้เขาจะพัฒนาจากเดิมได้แน่นอน เน้นคำศัพท์ บอกเวลา บอกทิศทาง เล่ากระบวนการปลูกชาการทำกาแฟ ตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องทำได้ เรียนผ่านบทบาทสมมุติในสถานการณ์ต่างๆ อย่างน้อยทักทายได้ เชิญชวนได้ ขอบคุณ เพื่อความประทับใจ”

สำหรับผู้เข้าอบรมในครั้งนี้มีจากหลายพื้นที่ อย่าง จีรภาส เยส่อภู และสมชาย เยสอภู จากบ้านปางขอน เล่าว่า เขาทั้งสองคนเรียนอยู่ในโรงเรียนบ้านปางขอน ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวให้ความนิยมเดินทางไปเยี่ยมชมธรรมชาติ พวกเขามีโอกาสทำงานทั้งในร้านกาแฟและในไร่กาแฟ พบปะนักท่องเที่ยวหลากหลาย รวมถึงชาวต่างชาติด้วย จึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เพื่อสร้างความพร้อมให้กับตนเองในการทำงานในสายพานการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและของชุมชนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าอบรมเดินทางมาจากโฮมสเตย์จากภูชี้ฟ้าอย่าง อุทัย สิงห์แก้ว, คำพันธ์ สิงห์แก้ว และปรานอม อินต๊ะสิน เล่าว่า พวกเขาคาดหวังอย่างมากที่จะนำความรู้จากการอบรมไปใช้งานในโฮมสเตย์ ที่มีนักท่องเที่ยวจากหลายสัญชาติเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาพูดคุยกับนักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วยภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ มือบ้าง ชี้ทิศทางบ้าง ซึ่งมีความเข้าใจตรงกันบ้างไม่ตรงบ้าง จึงตัดสินใจเข้าอบรมในครั้งนี้เนื่องจากอย่างให้การบริการหรือการให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างถูกต้องและถูกทิศทางให้มากที่สุดเพื่อหวังว่าจะสร้างความประทับใจและกลับมาเที่ยวในชุมชนของพวกเขาอีกในโอกาสต่อไป

  • 1169 ครั้ง