ประวัติ


"... โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ "ปลูกป่า สร้างคน" เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการธำรงไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน จึงเห็นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะดำเนินการด้านการเรียน การสอน การวิจัย การให้การศึกษาทางด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง การบริการวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยให้มีการบริหารที่มีอิสระ มีความคล่องตัว และไม่อยู่ในระบบราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" (ที่มา : พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ปี 2534 – 2536
ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี พ.ศ. 2536-2545 ขึ้นเป็นฉบับแรก ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบนตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
ปี 2537
มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายมีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมี หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยกสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น
18 กรกฎาคม 2538
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการ รณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงรายได้ประชุมปรึกษาหารือ และเห็นพ้องต้องกันว่า สมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ต่ออาณา ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ทรงใช้เป็นสถานที่สร้าง พระตำหนักและทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ซึ่งนำความ เจริญรุ่งเรืองมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ฉะนั้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีและเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธาน ของพระองค์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้ง การพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัย ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
4 มีนาคม 2539
นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวัง และสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้เป็นผู้ ประสานงาน โดยนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบ นายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัด ทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว
5 มีนาคม 2539
คณะรัฐมนตรีที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติให้ จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบัน ราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่ง ความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะ อย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย
27 เมษายน 2539
ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงานระบบบริหารและระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงโดยยกฐานะสถาบันราชภัฏ เชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อคณะรัฐมนตรี
20 สิงหาคม 2539
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา
13 กุมภาพันธ์ 2540
คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ โดยไม่ยกฐานะ สถาบันราชภัฎเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัย
18 กันยายน 2540
ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการ ตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธาน คณะกรรมการ จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อยและ เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อ ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม การดำเนินการจัดตั้งจึงเริ่มตั้งแต่บัด นั้น