มฟล.อบรมแนวทางจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเสี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์หมอกควันระดับกระทบคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจภาคเหนือ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มฟล.อบรมจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเสี่ยงแก่ศูนย์เด็กเล็กทั่วเชียงราย ฝึกทำเครื่องฟอกอากาศ-เครื่องเติมอากาศอย่างง่าย ท่ามกลางสถานการณ์หมอกควันระดับกระทบคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจภาคเหนือ

.

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ‘ศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่า หมอกควัน ในประเทศไทยและในภูมิภาค’ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเสี่ยงและฝึกปฏิบัติการทำอุปกรณ์สำหรับพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่นอย่างง่ายด้วยตัวเอง โดยมีตัวแทนศูนย์เด็กเล็กของท้องถิ่นและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กว่า 100 แห่ง เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทำเครื่องฟอกอากาศและเครื่องเติมอากาศ ( Air Filter & Aerator DIY Workshop) การจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเสี่ยง ฝึกปฎิบัติการทำอุปกรณ์ สำหรับพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่นอย่างง่ายด้วยตนเอง (DIY) วิทยากรจากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มฟล., พร้อมให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากฝุ่น P.M. 2.5 ต่อกลุ่มเปราะบาง โดยนักวิจัยจากสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ห้องประดู่แดง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ท่ามกลางสถานการณ์หมอกควันที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพของคน และเศรษฐกิจภาคเหนือในวงกว้าง
.
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่า หมอกควัน ในประเทศไทยและในภูมิภาค’ และ ‘กองทุนเมืองไทยไร้หมอกควัน’ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2562 ที่จังหวัดเชียงรายมีค่า PM 2.5 สูงเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบากศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป เป็นเวลา120 วัน  
.
โดยได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมตามวัตถุประสงค์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรในพื้นที่สูงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในภาคเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนผ่านงานบริจาคเงินเข้ากองทุนเมืองไทยไร้หมอกควันจากภาคเอกชน อาทิเช่น รายได้จาก Toyota Chiang Rai Night Run และมูลนิธิชวน รัตนรักษ์  และการสนับสนุนเป็นสิ่งของ อาทิเช่น อุปกรณ์ดับไฟป่าจากสิงห์อาสา หน้ากากจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) น้ำดื่มจากสิงห์ปาร์ค เชียงราย และมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย เป็นต้น
.
ทั้งยังได้จัดทำโครงการเครือข่ายวัดคุณภาพอากาศกลุ่มจังหวัดภาคเหนือที่พัฒนาอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศ M-Care ร่วมศูนย์ความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีก่อกำเนิด (AIE) สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาออกมา 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ติดตั้งในหมู่บ้านและโรงเรียนนำร่องใช้การส่งผ่านสัญญาณ WIFI เพื่อรายงานค่าคุณภาพอากาศรายชั่วโมง รุ่นที่ 2 ที่มีไฟแสดงผลระดับฝุ่น 5 สี เชื่อมต่อ WIFI หรือผ่านคลื่นวิทยุกำลังส่งต่ำ LoRa เมื่อไม่มีสัญญาณ WIFI ที่ติดตั้งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย และรุ่นที่ 3 ที่ตัดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตต่ำสามารถนำไปใช้ได้เป็นการทั่วไป โดยทุกรุ่นสามารถรายงานผลแบบ Realtime ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ยักษ์ขาววัดฝุ่น’ yakkaw.com
.
โครงการสื่อเสียงตามสายภาษาถิ่น ต่อความตระหนักของประชาชนในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ที่ได้ผลิตสื่อเสียงตามสาย 13 ภาษาและมอบให้กับจังหวัดไปใช้ประโยชน์ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเสี่ยงไฟป่าเกิดความตระหนักเห็นถึงอันตรายและผลกระทบต่อสังคมจากไฟป่าและฝุ่นควัน และสามารถป้องกันตนเอง ครอบครัว ตลอดจนชุมชนให้ปลอดภัยจากฝุ่นควันได้ นอกจากนี้ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพยังได้มีกิจกรรมการให้ความรู้และแนวทางการรับมือ PM 2.5 โดยมีการอบรมการทำหน้ากากประดิษฐ์เอง (DIY) ที่ผ่านการออกแบบและทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกรองอากาศให้กับผู้นำกลุ่มแม่บ้านในอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สรวย 
.
โครงการพัฒนาต้นแบบศูนย์เด็กเล็กปลอดฝุ่น PM 2.5 ให้กับชุมชน ร่วมกับศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำอุปกรณ์ดักจับฝุ่น การปิดช่องอากาศ การติดตั้งเครื่องเติมอากาศ และการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลท่าสุด เพื่อเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นที่ดูแลเด็กเล็กและกลุ่มเสี่ยงเข้าศึกษาดูงาน 
.
นอกจากนี้ยังมีโครงการระบบสนับสนุนและติดตามการใช้งานอุปกรณ์สู้ไฟป่าสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย ที่สนับสนุนอุปกรณ์ทำแนวกันไฟและดับไฟป่าเพื่อให้อาสาสมัครของชุมชนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่ชุมชนเกษตรกรรมที่ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีการเผาและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้จำนวน 14 ชุมชนในอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่จัน มาตั้งแต่ปี 2563 โดยในส่วนของเครื่องจักรใช้ระบบให้ยืมปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการซ่อมบำรุง 
 

  • 622 ครั้ง